Your browser doesn’t support HTML5
ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังคุกรุ่น มาเลเซียและยุโรป กำลังงัดข้อกันเรื่องสินค้าน้ำมันปาล์ม ชนวนความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อสหภาพยุโรปประกาศเมื่อเดือนมีนาคมว่าจะเริ่มค่อยๆ เลิกใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะในปี ค.ศ. 2030 หรือ 11 ปีจากนี้ เนื่องจากมีความกังวลเรืองปัญหาสิ่งเเวดล้อม
มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับสองของโลกขู่ว่าจะร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO
อินโดนีเซีย ประเทศผู้ส่งออกสินค้าชนิดนี้อันดับหนึ่งแสดงจุดยืนร่วมกับมาเลเซียเช่นกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี มหาธีร์ มูฮาหมัดกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า การตัดสินใจของสหภาพยุโรปครั้งนี้ไม่เป็นธรรม
ผู้นำมาเลเซียขู่ด้วยว่าเขาอาจไม่ซื้อยุทโธปกรณ์จากยุโรปและหันไปหาจีนแทน
สภาน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย เตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อมาเลเซียที่รุนเเรง เพราะอุตสาหกรรมนี้คิดเป็นร้อยละ 6 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ในปี ค.ศ. 2017
ตลาดยุโรปซื้อน้ำมันปาล์มร้อยละ 12 ของปริมาณส่งออกสินค้านี้จากมาเลเซียทั้งหมด และถือเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับสองรองจากอินเดีย และจีนคือผู้ซื้อน้ำมันปาล์มที่สำคัญอันดับสามของมาเลเซีย
ภายใต้มาตรการลดการใช้น้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกจะไม่สามารถจัดให้น้ำมันปาล์มเป็นพลังงานที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ได้ เนื่องจากการทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นสาเหตุของการทำลายป่า
อย่างไรก็ตาม มาเลเซียกล่าวว่า รายงานเกี่ยวกัยการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำสวนปาล์มหลายฉบับมีเนื้อหาเกินจริง
นักวิเคราะห์ Shankaran Nambiar แห่ง Malaysian Institue of Economic Research กล่าวว่า นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจต่อมาเลเซีย แผนลดการใช้พลังงานชนิดนี้ของอียูยังมีนัยเรื่องอคติต่อน้ำมันปาล์มโดยรวม
เขากล่าวว่ามาเลเซียอาจหันไปพึ่งพาผู้ซื้อจากจีนและรัสเซียได้ และอาจมีความตกลงเเลกเปลี่ยนน้ำมันปาล์มกับอาวุธจากประเทศคู่ค้าเหล่านี้
อีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม Jon Grevatt แห่งสื่อ Jane’s กล่าาว่า แม้จีนและรัสเซียอาจยินดีที่จะเเลกเปลี่ยนสินค้าที่เป็นอาวุธยุทธภัณฑ์ กับน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย แต่ความสนใจในอาวุธจีนมีค่อยข้างน้อยที่งาน Langkawi International Maritime and Aerospace exhibition ในประเทศมาเลเซียเมื่อเดือนมีนาคม
นอกจากนี้การซื้ออาวุธจากรัสเซียยังอาจเผชิญความยุ่งยากจากกฎหมายของอเมริกาอีกด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่ารัสเซียเป็นประเทศคู่ปรับ และมีมาตรการลงโทษต่อซื้ออาวุธจากรัสเซีย ในบางกรณี
เมื่อพิจารณาถึงทางเลือกต่างๆ Jon Grevatt กล่าวว่าในที่สุดเเล้วมาเลเซียคงมาหาทางออกที่ยังคงเห็นว่ายุโรปเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในอนาคต