Your browser doesn’t support HTML5
คลีนิควิจัยและรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียบริเวณชายแดนไทยพม่าที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากกำลังพยายามแก้ปัญหาการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียก่อนที่จะมีการระบาดออกไป
คลีนิควิจัยและรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ริมชายแดนไทย-พม่าที่บ้านวังผา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เคยประสบความสำเร็จในการช่วยลดการระบาดของเชื้อมาลาเรียอย่างได้ผลจนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างน่าทึ่งมาแล้วในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรศที่ผ่านมา แต่ แพทย์หญิง Cindy Chu ผู้ดูแลคลีนิควิจัยที่บ้านวังผา แห่งนี้ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับโรคภัยร้ายแรงชนิดนี้อยู่
พญ.Cindy บอกว่า ที่ผ่านมาจะพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียที่คลีนิคแห่งนี้จำนวนมาก แต่การเร่งกำจัดและความตื่นตัวที่จะระวังป้องกัน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์มาลาเรียในฝั่งพม่าทำให้อัตราการการติดเชื้อมาลาเรียในแถบนี้ลดลงไปมาก อย่างไรก็ตามกลับพบว่าเชื้อมาลาเรียมีความซับซ้อนมากขึ้น จากอาการดื้อยา อาร์ติมิซินิน (Artimisinin) ขณะที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องการการรักษาที่เพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ยาอาร์ติมิซินิน เคยใช้ได้ผลอย่างมากในการรักษาโรคมาลาเรียโดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น แต่เมื่อไม่นานนี้ กลับพบเชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อยา ในแถบ 5 ประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และลาว
แม้ปัจจุบันคุณหมอจะยังคงใช้วิธีรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้ยาหลายชนิดด้วยขนานที่แรงขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่าในไม่ช้ายาเหล่านั้นอาจจะหมดฤทธิ์เพราะอาการดื้อยา
ศาสตราจารย์ Francais Nosten จากศูนย์วิจัยมาลาเรีย Shoklo ที่เก็บข้อมูลศึกษาในแถบชายแดนไทย-พม่า มากว่า 30 ปี บอกว่า สถานการณ์นี้ถือเป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลกเลยก็ว่าได้เพราะพบว่ากระบวนการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียเกิดขึ้นเร็วมาก จากในปีพ.ศ.2550 ยังไม่พบผู้ติดเชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อยาแม้แต่รายเดียวแต่ในอีก 5 ปี ต่อมาหรือในปี พ.ศ.2555 กลับพบเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80
ศาสตราจารย์ Nosten เสนอให้ใช้วิธีการใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงมากขึ้นเพื่อต่อต้านการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียเพื่อควบคุมการระบาด เช่นเดียวกับการจัดการควบคุมการใช้ยาให้ทั่วถึงทุกๆ หมู่บ้าน
ศาสตราจารย์ ด้านการวิจัยเชื้อมาลาเรีย บอกว่า สิ่งที่คาดหวังก็คือการสามารถยุติพัฒนาการของการดื้อยาอาร์ติมิซินินลงได้ และกำจัดเชี้อปรสิตมาลาเรีย เพราะลำพังเพียงแค่การรักษาเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหรือการลดการติดต่อของโรคระบาดอาจไม่ดีพอ สิ่งที่ต้องทำคือการกำจัดเชื้อปรสิตกลายพันธุ์ที่ดื้อยาให้สิ้นซากเท่านั้น
หน่วยแพทย์ในพื้นที่เตรียมแผนที่จะแจกยาต่อต้านเชื้อมาลาเรียไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อาจจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อมาลาเรีย และคาดหวังว่าอาจจะพอช่วยหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อปรสิตอันตรายชนิดนี้ได้