ที่ห้องทดลองชานเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา นักวิทยาศาสตร์นำตับหมูที่เคยมีสีน้ำตาลแดงซึ่งแสดงสภาพตัดที่แข็งแรงเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ แช่ไว้ในขวดแก้วขนาดใหญ่ โดยตอนนี้อวัยวะเหล่านั้นมีลักษณะกึ่งโปร่งแสง และมีท่อสีขาวเหมือนกิ่งไม้ยื่นออกมา
ตับหมูที่ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนให้ดูเหมือนและทำหน้าที่เหมือนตับของมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอันยาวนานของนักวิทยาศาสตร์ ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอวัยวะในการปลูกถ่ายด้วยวิธีการทางชีววิศวกรรม
ขั้นตอนแรกของกระบวนการดังกล่าวคือการชำระล้างเซลล์ของหมูที่ทำให้อวัยวะทำงานได้ โดยสีของมันจะค่อย ๆ จางลงเมื่อเซลล์ต่าง ๆ ละลายและถูกชะล้างออกไป สิ่งที่คงเหลืออยู่ก็คือโครงสร้างที่มีลักษณะเหมือนรังผึ้งของตับ ซึ่งหลอดเลือดของมันว่างเปล่า จากนั้นก็นำเซลล์ตับของมนุษย์ ซึ่งได้มาจากอวัยวะบริจาคที่ไม่สามารถนำไปปลูกถ่ายได้ ใส่กลับเข้าไปในโครงสร้างตับหมู เซลล์ที่มีชีวิตจากตับมนุษย์จะเคลื่อนตัวเข้าไปตามซอกผนังเพื่อเริ่มการทำงานของอวัยวะใหม่อีกครั้ง
เจฟฟ์ รอสส์ ซีอีโอของ Miromatrix กล่าวว่า “เราได้สร้างอวัยวะใหม่ขึ้นมา โดยที่ร่างกายของเราจะไม่เห็นว่ามันเป็นอวัยวะของหมูอีกต่อไป”
โดยในช่วงปี 2023 Miromatrix วางแผนการทดสอบอวัยวะนี้ในมนุษย์เป็นครั้งแรกเพื่อเริ่มพยายามหาข้อพิสูจน์ในกระบวนการนี้
หากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ เห็นชอบ การทดลองเบื้องต้นจะมีขึ้นนอกร่างกายของผู้ป่วย โดยนักวิจัยจะวางตับหมูที่กลายเป็นเสมือนตับมนุษย์ไว้ข้างเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อกรองเลือดของคนที่มีภาวะตับล้มเหลวกะทันหันเป็นการชั่วคราว และหากกระบวนการพยุงตับนี้ใช้ได้ผล มันจะเป็นขั้นตอนสำคัญสู่ความพยายามในการปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับการดัดแปลงทางชีววิศวกรรมได้ในที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นการปลูกถ่ายไต
นายแพทย์ แซนเดอร์ ฟลอร์แมน หัวหน้าแผนกปลูกถ่ายอวัยวะของโรงพยาบาล Mount Sinai ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลหลายแห่งที่วางแผนจะเข้าร่วมการศึกษาเรื่องการพยุงตับกล่าวว่า "แม้ว่าจะฟังดูเหมือนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ก็น่าจะมีการเริ่มต้นศึกษาวิจัยในเรื่องนี้" และว่า “วิธีการนี้น่าจะเป็นไปได้มากกว่า Xenotransplantation หรือการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์เข้าไปในร่างกายมนุษย์โดยตรง”
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยมากกว่า 105,000 คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อรอการปลูกถ่ายอวัยวะของสหรัฐฯ อาจจะมีหลายพันคนที่จะเสียชีวิตลงก่อนที่จะได้รับบริจาค นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพันคนที่ไม่เคยอยู่ในบัญชีรายชื่อรอการปลูกถ่ายเลย
นายแพทย์อามิต เทวาร์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายที่ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กกล่าวว่า “จำนวนอวัยวะที่เรามีอยู่นั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้” ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ต้องมองหาสัตว์ที่จะเป็นแหล่งสำหรับอวัยวะ
ทั้งนี้ อวัยวะที่มาจากวิธีการทางชีววิศวกรรมนั้นมีความแตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้หมูชนิดพิเศษ แต่ใช้เพียงอวัยวะที่เหลือจากโรงฆ่าสัตว์เท่านั้นเอง
นายแพทย์เทวาร์ จากพิตต์สเบิร์ก ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Miromatrix กล่าวว่า "ในระยะยาว วิธีการทางชีววิศวกรรมอาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในมนุษย์ได้" และเขายังติงว่า การทดลองภายนอกร่างกายที่วางแผนไว้จะเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มการทดลองได้เร็วแค่ไหน แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้แจ้งให้ Miromatrix ทราบว่ามีคำถามบางประการเกี่ยวกับการศึกษานี้ ว่าถ้าการทดลองพยุงตับนอกร่างกายได้ผล ขั้นตอนต่อไปคืออะไร? เพราะยังมีงานวิจัยอีกมากมายที่มีเป้าหมายในความพยายามที่จะปลูกถ่ายอวัยวะจากวิธีการทางชีววิศวกรรมให้ได้สักวันหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นไต เพราะผู้ป่วยสามารถอยู่รอดได้ด้วยการล้างไตหากการผ่าตัดล้มเหลว
- ที่มา: เอพี