เดือดอีกพิกัด! กองทัพอาระกันเตรียมยึดเมืองสำคัญในรัฐยะไข่

  • VOA

แฟ้มภาพ - ท่อขนส่งพลังงานที่ท่าเรือเห็นจากนอกเมืองเจ้าผิวก์ เมียนมา เมื่อ 18 พ.ค. 2017 (REUTERS/Soe Zeya Tun)

หลังจากข้อตกลงหยุดยิงที่จีนเป็นตัวกลางเจรจาล่มไป กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) ที่มีฐานปฏิบัติการในรัฐยะไข่ หรือที่รู้จักอีกชื่อคือ อาระกัน ทางตะวันตกของเมียนมา ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศบังกลาเทศ ได้เข้ายึดพื้นที่การสู้รบทางตอนเหนือของรัฐอย่างต่อเนื่อง

มอร์แกน ไมเคิลส์ จาก International Institute for Strategic Studies (IISS) ในกรุงลอนดอน ซึ่งติดตามความขัดแย้งในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “กองทัพอาระกันเอาชนะในพิกัดสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เกือบทั้งหมดแล้ว”

ทางกองทัพอาระกันและสื่อท้องถิ่นในเมียนมา ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธนี้ได้เข้าควบคุม 8 เมืองจาก 18 เมืองในรัฐยะไข่ และยังเข้าควบคุมอีก 1 เมืองในรัฐคะฉิ่นที่อยู่ใกล้เคียง

ไมเคิลส์ ซึ่งติดตามและตรวจสอบรายงานสถานการณ์ในเมียนมา ระบุว่า กองทัพเมียนมายังคงควบคุมเมืองต่าง ๆ ในรัฐยะไข่ได้เพียงหยิบมือ “แต่ประเด็นสำคัญก็คือพวกเขา[กองทัพอาระกัน]ได้รื้อระบบป้องกันของกองทัพเมียนมาไปแล้ว และถึงแม้ว่าจะมีบางเมืองเหลืออยู่ พวกเขาก็แค่ปิดล้อมเมืองก็เป็นพอ เมื่อสามารถเคลื่อนย้ายกำลังพลได้อย่างเสรีในรัฐนี้แล้ว ก็สามารถตั้งคณะทำงานฝ่ายบริหารได้ พวกเขามีบทบาทสำคัญที่นั่นแล้ว”

กองทัพอาระกันยังได้บุกเมืองเอ็น (Ann) ซึ่งเป็นกองบัญชาการของกองทัพเมียนมาทางตะวันตก และใกล้จะยึด ซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ และเมืองท่าเจ้าผิวก์แล้ว

ไข่ ทู คา โฆษกกองทัพอาระกัน บอกกับวีโอเอเมื่อวันพฤหัสบดีว่า กลุ่มติดอาวุธกำลังเตรียมการยึด 2 เมืองสำคัญในเร็ววันนี้ โดยระบุว่า “เราได้ปิดล้อมซิตตเวและเจ้าผิวก์แล้ว .. เป้าหมายของเราคือการยึดคืนดินแดนของบรรพบุรุษ นั่นคืออาระกันทั้งหมด”

ทางวีโอเอไม่สามารถติดต่อโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

กองทัพอาระกันก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 ได้แผ่ขยายอิทธิพลจนเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอำนาจที่สุดกลุ่มหนึ่งในเมียนมา มีเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลปกครองรัฐยะไข่ด้วยตนเอง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรอาระกัน และนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา กองทัพอาระกันเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีเหล่านักรบท้องถิ่นเข้าร่วมมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยมีเป้าหมายในการหาทางโค่นล้มรัฐบาลทหารเมียนมา

นอกจากนี้ กลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อการสู้รบรุกไล่กองทัพเมียนมาของกลุ่มติดอาวุธทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาเมื่อปลายปีก่อน ในชื่อ Operation 1027 ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมาครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมาได้

มิน ซอว์ อู แห่งสถาบันคลังสมอง Myanmar Institute for Peace and Security ที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ของเมียนมา ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า หากรัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียเมืองซิตตเว จะถือว่าเป็นการเสียเมืองเอกของรัฐให้กับกลุ่มแข็งข้อต่อต้านเป็นครั้งแรก อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอับอายที่ไม่ใช่เมืองสำคัญด้านยุทธศาสตร์

ทว่า การสูญเสียการควบคุมเมืองเจ้าผิวก์ต่างหาก ที่จะส่งผลกระทบอย่างหนักทั้งด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสำหรับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะเมืองเจ้าผิวก์ ซึ่งโอบล้อมอ่าวเบงกอลในบริเวณรัฐยะไข่ เป็นสถานีเรดาร์และฐานทัพเรือสำคัญที่มี “มูลค่ามหาศาลทั้งด้านการทหารและการเงิน”

ทั้งนี้ เมืองเจ้าผิวก์เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่มีโครงสร้างเมกะโปรเจคมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่มีรัฐบาลจีนหนุนหลัง รวมทั้งท่อส่งน้ำมันและก๊าซจากเมียนมาไปยังมณฑลยูนนานของจีน อีกทั้งยังมีการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

เส้นทางเมืองเจ้าผิวก์ ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่เปิดทางให้จีนสามารถส่งออกน้ำมันและก๊าซโดยเลี่ยงช่องแคบมะละการะหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่อาจเกิดความติดขัดบริเวณเส้นทางขนส่งดังกล่าวได้หากมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ท่อส่งเชื้อเพลิงเหล่านี้ยังเป็นส่วนสำคัญหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของเมียนมา อันเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทหารอีกด้วย

ไมเคิลส์ กล่าวกับวีโอเอในเรื่องนี้ด้วยว่า หากรัฐบาลทหารเมียนมาล้มเหลวในการควบคุมเมืองเจ้าผิวก์ “พวกเขาจะสูญเสียการเข้าถึงท่อส่ง จะแปลความในมุมมองของเศรษฐกิจและการทูตระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและรัฐบาลปักกิ่งได้ว่า หากกองทัพไม่สามารถควบคุมสินทรัพย์สำคัญนี้ได้ ก็อาจเป็นความสูญเสียอย่างมีนัยสำคัญสำหรับกองทัพเมียนมา”

มิน ซอว์ อู เสริมว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนำรายได้มาให้กับกองทัพเมียนมาที่เผชิญกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงราว 1 ใน 5 หากรัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียเมืองเจ้าผิวก์ไปอีกก็จะเป็น “แรงกระแทกครั้งใหญ่” ที่อาจจะ “เลวร้ายกว่าการเสียเมืองเมียวดี”

ในกรณีของเมืองเมียวดี ที่ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนเมียนมาและไทย เป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อทั้งสองชาติ และสร้างรายได้ด้านภาษีมูลค่ามหาศาลให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมาจากมูลค่าการค้าราว 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ก่อนที่กองกำลังกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในพื้นที่จะเข้ายึดครองเมืองเมียวดีเมื่อต้นเดือนเมษายน ก่อนจะร่นถอยกำลังทหาร ในการเผชิญกับการรุกโต้กลับจากกองทัพและกลุ่มติดอาวุธ

เมื่อมองดูความสำคัญของเมืองเจ้าผิวก์กับจีนแล้ว ไมเคิลส์ และมิน ซอว์ อู ต่างเห็นตรงกันว่ารัฐบาลปักกิ่งอาจจะเพิ่มแรงกดดันให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาและกองทัพอาระกันเพื่อให้เห็นชอบกับข้อตกลงหยุดยิงหรือการสงบศึกรอบใหม่ อย่างน้อยก็บริเวณที่มีโครงการลงทุนมหาศาลในพื้นที่รัฐดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการแบ่งเค้กระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาให้ได้ส่วนของท่าเรือและแบ่งผลกำไรให้กับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ไปอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้จัดหาอาวุธรายสำคัญของรัฐบาลทหารเมียนมา เช่นเดียวกับรัสเซีย และเป็นที่เชื่อกันในวงกว้างว่าจีนเป็นแหล่งอาวุธสำคัญของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงกองทัพอาระกัน

มิน ซอว์ อู กล่าวถึงเรื่องนี้กับวีโอเอว่า “มีแนวโน้มว่าจีนจะไม่พอใจหากยังมีการต่อสู้ดำเนินอยู่ในเมืองเจ้าผิวก์ ดังนั้นพวกเขาอาจพูดคุย[เรื่องนี้]กับกองทัพอาระกันไปแล้ว” เนื่องจากมีการต่อสู้รอบเมืองท่าน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยในช่วงที่ผ่านมา

ด้านไข่ ทู คา ไม่ได้เปิดเผยกับวีโอเอว่ามีการหารือระหว่างกองทัพอาระกันกับจีนเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจคในรัฐยะไข่หรือไม่อย่างไร แต่ยืนยันเพียงว่านโยบายของกองทัพอาระกันคือการปกป้องการลงทุนต่างชาติทุกประเภทในรัฐนี้

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนและสถานทูตจีนประจำเมียนมาไม่ได้ตอบกลับคำขอความเห็นของวีโอเอในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานชิ้นนี้

  • ที่มา: วีโอเอ