Your browser doesn’t support HTML5
นาย Eric Schmidt กรรมการผู้บริหารบริษัท Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google กล่าวผ่าน Video Conference ต่อผู้ร่วมประชุมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการเรียนรู้ที่กรุงโตเกียวซึ่งจัดโดย Google ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ก้าวหน้าไปมาก จนสามารถตอบอีเมลต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ หรือสามารถระบุได้ทันทีว่าภาพที่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นเป็นภาพใคร หรือภาพอะไร
เมื่อวันที่ 9 พ.ย Google เปิดตัวซอฟท์แวร์ที่ชื่อว่า TensorFlow ซึ่งเป็น AI ที่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต โดยอนุญาตให้นักพัฒนาซอฟท์แวร์ลองใช้เพื่อนำไปปรับปรุงการใช้งานของซอฟท์แวร์ใหม่ที่ว่านี้
ความก้าวหน้าจากการที่ซอฟท์แวร์สมัยใหม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด คือทำให้ฉลาดยิ่งขึ้น กล่าวคือในอดีต วิศวกรจะตั้งโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ทำงานแบบเฉพาะเจาะจงเป็นขั้นๆ เช่นเมื่อเราพิมพ์คำว่า “Bear” ในระบบแปลภาษาของ Google ระบบนั้นอาจจะแปลออกมาทันทีว่า “หมี” แต่เมื่อคอมพิวเตอร์มีการเรียนรู้มากขึ้น จะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถแปลคำๆ นั้นออกมาได้ตรงตามสถานการณ์ยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าในบางกรณีหรือบางประโยค “Bear” อาจแปลว่า “อดทน” ได้
อย่างไรก็ตามดูเหมือนประเด็นที่ถูกพูดถึงมากนั้น นอกจาก AI หรือ Artificial Intelligence แล้ว ยังมีเรื่องของ EI หรือ Emotional Intelligence หรือความฉลาดด้านอารมณ์ความรู้สึกด้วย
เมื่อหลายเดือนก่อน Google ถูกกดดันให้ต้องมีคำแถลงขอโทษต่อสาธารณชน หลังจากแอพพลิเคชั่นรูปภาพแบบใหม่ของ Google ติดคำว่า “ลิงกอริลล่า” ไว้ที่ภาพของคนผิวดำ
สำหรับประเด็นที่หลายคนกังวลว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์กำลังเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานของมนุษย์ คุณ Eric Schmidt มองว่าการที่เรานำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานหลายอย่าง เช่นงานในโรงงาน จะทำให้มนุษย์เองไม่ต้องทำงานหนักเหมือนหุ่นยนต์ และกลับมามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น
ผู้บริหารของ Google ยังบอกด้วยว่า เทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด ยังถูกนำมาใช้เพื่อความสะดวกสบายและปลอดภัย ดังเช่นที่ใช้อยู่ในรถยนต์แบบไม่ต้องใช้คนขับหรือ Driverless Car ซึ่งระบบควบคุมรถยนต์ประเภทนี้จะเรียนรู้การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพการจราจรต่างๆ ได้ และประมวลผลจนเกิดความถูกต้องในที่สุด
และในขณะที่เทคโนโลยี AI กำลังรุดหน้าไปมาก ปัญหาการลอบล้วงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การโจมตีในโลกไซเบอร์ส และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ก็ถูกพูดถึงและก่อให้เกิดความกังวลมากขึ้นเช่นกัน
Eric Schmidt ชี้ว่าการที่รัฐบาลต่างๆ รวมทั้งสหรัฐฯ และจีน ลักลอบล้วงข้อมูลของบริษัทเอกชนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ พยายามอย่างยิ่งที่จะปกป้องข้อมูลของลูกค้าหรือผู้ใช้ด้วยระบบความปลอดภัยขั้นสูง ซึ่ง Schmidt เชื่อว่า Google ทำได้ดีกว่ารัฐบาลในเรื่องการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้
(ผู้สื่อข่าว Lien Hoang รายงานจากกรุงโตเกียว / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)