Your browser doesn’t support HTML5
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารโรคระบาดและสุขภาพชุมชน ชี้ว่า โดยภาพรวมแล้วเคล็ดลับหรือปัจจัยของการมีอายุยืนยาวถึงระดับ 90 ปีนั้น อยู่ที่ขนาดของร่างกายทั้งในแง่ส่วนสูงและน้ำหนักตัว รวมถึงระดับของการออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางร่างกายด้วย
แต่เรื่องดังกล่าวส่งผลต่อเพศหญิงกับเพศชายแตกต่างกัน
ผลการศึกษาได้พบว่า กลุ่มผู้หญิงซึ่งมีอายุยืนถึง 90 ปีนั้นโดยเฉลี่ยแล้วจะสูงกว่าและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า โดยเริ่มตั้งแต่ในช่วงวัยสาวตอนต้นราว 20 ปี เมื่อเทียบกับสตรีที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าและมีความสุขน้อยกว่าซึ่งมักจะมีอายุยืนยาวไม่เท่า
แต่ในทางกลับกัน ความสำคัญของปัจจัยเรื่องส่วนสูงและน้ำหนักนี้ดูจะไม่มีผลมากเท่าใดในการช่วยกำหนดความยืนยาวของชีวิตสำหรับเพศชาย เพราะสำหรับผู้ชายนั้น ประโยชน์จากการออกกำลังกายเป็นประจำหรือการมีกิจกรรมทางร่างกาย แม้จะเป็นกิจกรรมง่ายๆ เช่น การจูงสุนัขไปเดินเล่น การทำสวน การทำงานซ่อมแซมบ้าน การเดิน การขี่จักรยาน การเล่นกีฬา เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการมีชีวิตยืนยาวของผู้ชายมากกว่าปัจจัยใดๆ
การศึกษาพบด้วยว่า สตรีที่มีน้ำหนักตัวน้อยในช่วงอายุ 20 ปี และสามารถรักษาน้ำหนักตัวเอาไว้ได้ในระดับที่เหมาะสมเมื่ออายุมากขึ้น มักมีอายุยืนยาว
และความสูงก็มีส่วนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน คือสตรีที่สูงกว่า 5 ฟุต 9 นิ้วหรือราว 170 ซ.ม. จะมีโอกาสมากกว่าราว 31% ในการมีอายุยืนยาวถึง 90 ปีเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีความสูงน้อยกว่า 5 ฟุต 3 นิ้วหรือราว 157 ซ.ม.
ส่วนผู้ชายนั้น น้ำหนักกับความสูงดูจะไม่มีส่วนสำคัญมากเท่ากับกิจกรรมทางร่างกาย กล่าวคือ ผู้ชายกลุ่มที่ใช้เวลาอย่างน้อย 90 นาทีต่อวันสำหรับกิจกรรมต่างๆ ทางร่างกาย จะมีโอกาสมากกว่าถึงราว 39% ที่จะมีชีวิตยืนยาวถึง 90 ปี เมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีกิจกรรมใช้แรงกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน