นักวิทยาศาสตร์ พบว่าการขับขานบทเพลงแห่งความเหงาของเหล่าวาฬหลังค่อม ซึ่งเชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณความเหงาเท่าขนาดตัวของพวกมันนั้น เริ่มลดลงไปแล้ว อันเป็นผลจากประชากรวาฬที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามวาฬหลังค่อมในออสเตรเลียสังเกตเห็นว่ามีวาฬจำนวนลดน้อยลงที่ส่งเสียงร้องคร่ำครวญเพื่อหาคู่เมื่อพวกมันมีประชากรเพิ่มขึ้น ขณะที่ท่วงทำนองเศร้าสร้อยที่วาฬหลังค่อมเปล่งเสียงร้องออกมานั้น อาจเป็นสัญญาณของความเหงาของพวกมันจริงๆ
รีเบคกา ดันลอป (Rebecca Dunlop) นักชีววิทยาทางทะเล ผู้ศึกษาวาฬหลังค่อมที่ผสมพันธุ์ใกล้กับแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟมากว่าสองทศวรรษกล่าวว่า “เสียงเพลงของวาฬหลังค่อมนั้นเป็นเสียงที่ดังและเดินทางได้ไกลในมหาสมุทร”
เมื่อจำนวนวาฬเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากการยุติล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านการอนุรักษ์สัตว์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก เธอได้สังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน
ดันลอปซึ่งเป็นนักชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในบริสเบน กล่าวว่า “การตามหาวาฬที่ส่งเสียงร้องเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ” และว่า “ในตอนที่วาฬมีจำนวนน้อยกว่านี้ กลับมีวาฬที่ส่งเสียงร้องมากกว่า แต่ในตอนนี้ที่วาฬมีจำนวนมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องส่งเสียงร้องมากนัก”
นักวิทยาศาสตร์เริ่มได้ยินและศึกษาบทเพลงอันไพเราะของวาฬหลังค่อมเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1970 ด้วยการใช้ไมโครโฟนใต้น้ำรุ่นใหม่ ทั้งนี้ มีเพียงวาฬตัวผู้เท่านั้นที่ร้องเพลง และเชื่อว่าเสียงเพลงเหล่านี้มีบทบาทในการดึงดูดคู่ครองและเป็นการแสดงอำนาจของพวกมัน
วาฬหลังค่อมที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ในภูมิภาคช่วงปี 1960 โดยเหลือวาฬชนิดนี้เพียง 200 ตัวเท่านั้น แต่จำนวนของพวกมันก็เพิ่มขึ้นเป็น 27,000 ตัวภายในปี 2015 ซึ่งคาดว่าใกล้เคียงกับระดับก่อนที่จะมีการล่าวาฬ
ดันลอปและเพื่อนร่วมงานได้เขียนรายงานซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Communications Biology ฉบับเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ชี้ว่า เมื่อประชากรวาฬเพิ่มขึ้น การร้องหาคู่ของพวกมันก็เปลี่ยนไป โดยในช่วงปี 2004 มีวาฬตัวผู้ 2 ใน 10 ตัวที่ส่งเสียงร้อง แต่อีกทศวรรษต่อมาอัตราส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น
ดันลอปคาดว่าเสียงเพลงของวาฬมีบทบาทอย่างมากในการหาคู่ เมื่อจำนวนประชากรวาฬลดลงอย่างมาก แต่เมื่อพวกมันอาศัยอยู่ในกลุ่มที่มีประชากรวาฬหนาแน่น วาฬตัวผู้ที่กำลังมองหาคู่ก็ต้องกำจัดคู่แข่ง และการร้องเพลงก็อาจทำให้วาฬตัวอื่น ๆ ไม่พอใจ
บอริส เวิร์ม (Boris Worm) นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยดาลฮาวซี (Dalhousie) ประเทศแคนาดา ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าวว่า "ในขณะที่ประชากรวาฬฟื้นตัว พวกมันก็เปลี่ยนพฤติกรรม และการควบคุมความรู้สึกก็แต่งต่างไปจากเดิม
นักวิจัยออสเตรเลียรายงานว่า หากมหาสมุทรยังคงมีเสียงดัง วาฬหลังค่อมจำนวนมากก็จะเกี้ยวพาราสีกันด้วยการร้องเพลงและขยับร่างกายของมัน
ไซมอน อินแกรม (Simon Ingram) นักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยไพลมัธ (Plymouth) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้อีกผู้หนึ่งกล่าวว่า "จำนวนวาฬที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วงเวลาที่พวกเขาทำการศึกษาทำให้ได้มีโอกาสพิเศษในการรับรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของวาฬ
เขากล่าวต่อไปว่า แม้ว่าวาฬหลังค่อมน่าจะเป็นนักร้องมานานก่อนที่การล่าวาฬจะลดประชากรของพวกมัน แต่การศึกษาครั้งใหม่นี้เน้นย้ำให้เห็นว่าการขับขานบทเพลงที่ไพเราะของวาฬนั้น มีความสำคัญต่อความอยู่รอดและการฟื้นตัวของพวกมันอย่างไรบ้าง และว่า “เห็นได้ชัดว่าการเปล่งเสียงร้องของวาฬกลายเป็นสิ่งมีค่าอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อพวกมันมีจำนวนน้อยมาก”
- ที่มา: เอพี