นักวิทยาศาสตร์พบสารเคมี 4VA ที่ดึงดูดตั๊กแตนนับล้านๆ ให้รวมตัวกัน

Locust

Your browser doesn’t support HTML5

Locusts Pheromone

สำนักข่าวรอยเตอร์และ AFP รายงานเรื่องการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Nature เกี่ยวกับการพบสารเคมีชนิดหนึ่งที่ตั๊กแตนปล่อยออกมาและส่งผลดึงดูดให้เกิดการรวมตัวของตั๊กแตนฝูงใหญ่ที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยนักกีฏวิทยาที่ศึกษาตั๊กแตนได้พบสารเคมีชื่อ 4VA ซึ่งส่งผลดึงดูดให้ตั๊กแตนมารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ สารเคมีที่ว่านี้ถูกปล่อยจากขาหลังของตั๊กแตนและตั๊กแตนตัวอื่นสามารถรับกลิ่นได้ทางหนวด โดยสารเคมีที่ทรงพลังดังกล่าวมีอิทธิพลสร้างแรงดึงดูดต่อตั๊กแตนทั้งสองเพศและทุกกลุ่มอายุด้วย

โดยปกติแล้วมนุษย์เราก็ปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า pheromone ในลักษณะที่จมูกสามารถรับรู้ได้และส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความตื่นตัวทางเพศ ความอยากอาหาร หรือการเตือนภัย แต่สำหรับในตั๊กแตนปัญหาก็คือเมื่อตั๊กแตนมารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่จากผลของสารเคมีนี้นับเป็นพันล้านตัวในพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรสิ่งที่มักจะตามมาคือความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรนั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสารเคมี 4VA นี้พบได้ในตั๊กแตนพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานทั้งในทวีปเอเชียทวีปแอฟริกา และในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ซึ่งเรามักจะเห็นข่าวเป็นประจำเมื่อมีการรวมตัวของตั๊กแตนฝูงใหญ่ที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่นั้นๆ และขณะที่มนุษย์ใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เพื่อพยายามกำจัดและทำลายการรวมตัวของตั๊กแตนขนาดมหึมา แต่สารเคมีที่ใช้นี้ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ได้เข่นกัน ดังนั้นการพบสารเคมี 4VA ในตั๊กแตนจึงอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเราอาจพัฒนาสารเคมีเพื่อต่อต้านผลของสารเคมี 4VA ที่ดึงดูดฝูงตั๊กแตนนับล้านๆ ตัวหรืออาจใช้เพื่อล่อตั๊กแตนเข้าสู่กับดักและฆ่าทิ้ง นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์อาจใช้ความรู้เรื่องสารนี้เพื่อหาวิธีปิดกั้นการได้กลิ่นสารเคมี 4VA ของตั๊กแตนหรือใช้วิศวกรรมพันธุกรรมเพื่อเพาะพันธ์ุตั๊กแตนที่ไม่สร้างสารดังกล่าวแล้วปล่อยออกไปให้แพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้ยังมีเรื่องที่ไม่รู้อยู่อีกมากว่าสารเคมี 4VA เป็นสาเหตุเดียวที่สร้างแรงดึงดูดให้ตั๊กแตนมารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่หรือว่าตั๊กแตนทุกพันธุ์จะตอบสนองต่อสารนี้เหมือนกันหรือไม่