5 ภารกิจช่วยเหลือคนติด 'ถ้ำ-เหมือง-เรือดำน้ำ' ในรอบ 20 ปีทั่วโลก

In this handout photo released by Tham Luang Rescue Operation Center, Thai rescue teams walk inside a cave complex where 12 boys and their soccer coach went missing, in Mae Sai, Chiang Rai province, in northern Thailand, July 2, 2018.

สำนักข่าว AFP ได้รวบรวม 5 ภารกิจสำคัญในปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใน ถ้ำลึก เหมือง และเรือดำน้ำ ทั่วโลก ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการมอบ "ชีวิตใหม่" ให้กับผู้ประสบเหตุเหล่านั้น​

เมืองกรามัต ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1999

นักสำรวจถ้ำ 7 คน ติดอยู่ในถ้ำลึกในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสเป็นเวลานานถึง 10 วัน หลังจากเกิดพายุใหญ่ที่ทำให้น้ำท่วมปิดทางเข้าออกถ้ำทั้งหมด

สิ่งที่ตามมาคือปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในฝรั่งเศส บรรดาผู้เชี่ยวชาญช่วยกันเจาะผนังหินของถ้ำแห่งนั้นหลายจุดเพื่อหาทางเข้าไปช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ด้านใน

สุดท้ายทีมงานช่วยเหลืือสามารถเข้าถึงตัวชายทั้ง 7 คนในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1999 ด้วยการเจาะผนังถ้ำและเดินตามเส้นทางน้ำใต้บาดาล และพบว่าทั้ง 7 คนอยู่ในสภาพที่อิดโรยแต่ยังแข็งแรง และยังมีน้ำและแก๊สสำหรับจุดไปเพียงพอในการดำรงชีวิตในถ้ำลึกอีกสองวัน

แหลมกัมแชตก้า รัสเซีย ปี ค.ศ. 2005

ลูกเรือ 7 คนของเรือดำน้ำ Priz ของรัสเซียกำลังจะไม่มีอากาศหายใจ หลังจากติดอยู่ในเรือดำน้ำใต้ทะเลลึกเป็นเวลาสามวัน

เรือดำน้ำดังกล่าวแล่นไปติดหล่มใต้ทะเลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2005 ใต้ความลึก 190 เมตร ก่อให้เกิดความกังวลต่อประชาชนชาวรัสเซียที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากก่อนหน้านี้ 5 ปี เรือดำน้ำ Kursk ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน แต่ที่โชคร้ายคือลูกเรือทั้งหมด 118 เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

แต่ในที่สุด ความช่วยเหลือก็ไปถึงลูกเรือของ Priz หลังจากที่หุ่นยนต์กู้ภัยใต้ทะเลของอังกฤษสามารถช่วยให้เรือดำน้ำลำนั้นเป็นอิสระและลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้อีกครั้ง

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน มอบเหรียญกล้่าหาญให้กับคณะกู้ภัยชาวอังกฤษกลุ่มนั้น และรัฐบาลมอสโกประกาศซื้อหุ่นยนต์กู้ภัยใต้ทะเลหลายตัวจากทางอังกฤษ เพื่อใช้ในปฏิบัติการช่วยเหลือลักษณะเดียวกัน

เมืองโคปิอาโป ชิลี ปี ค.ศ. 2010

คนงานเหมืองชาวชิลี 33 คน ติดอยู่ในเหมืองใต้ดินในความลึก 600 เมตร หลังจากหินถล่มปิดทางเข้าออกเหมืองเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2010

ตอนแรกรายงานข่าวคาดว่าคนงานเหมืองทุกคนเสียชีวิต แต่การตรวจสอบในช่วง 17 วันหลังจากหินถล่มพบสัญญาณการรอดชีวิตของชาย 33 คน หลังจากนั้นจึงเป็นภารกิจการกู้ภัยซึ่งต้องใช้ความพยายามอีกหลายสิบวัน กว่าที่จะสามารถส่งแท่นเจาะลงไปใต้ดินและนำคนงานเหล่านั้นกลับขึ้นมาได้

รวมเวลาทั้งหมดที่คนงาน 33 คนติดอยู่ในเหมืองใต้ดินคือเกือบ 70 วัน โดยในช่วง 17 วันแรกนั้น พวกเขามีเพียงปลาทูน่ากระป๋อง 15 กระป๋อง ในการดำรงชีพ ซึ่งต้องใช้วิธีแบ่งกันอย่างประหยัดและเท่าเทียม เพื่อให้สามารถประทังชีวิตให้นานที่สุด

ข่าวนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก และได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง 33 ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2015

อิคา เปรู ปี ค.ศ. 2012

คนงานเหมือง 9 คน รวมทั้งพ่อและลูก ติดอยู่ในถ้ำใต้ดินเป็นเวลา 7 วัน ทางภาคใต้ของเปรู ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ปี 2012

ปฏิบัติการช่วยเหลือต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เนื่องจากที่เกิดเหตุเป็นเหมืองผิดกฎหมาย ไม่มีการตรวจสอบ และเกรงว่าจะเกิดการถล่มลงมาอีกขณะที่หน่วยกู้ภัยเจาะผ่านชั้นดินและหินลงไปข้างล่าง

ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็สามารถช่วยคนงานทั้ง 7 คนขึ้นมาได้ โดยพวกเขาต้องถูกห่อหุ้มด้วยผ่าห่มหนา และต้องใส่หน้ากากกันแสงเอาไว้เพื่อไม่ให้อันตรายต่อดวงตา เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินเป็นเวลาหลายวันโดยที่ไม่เห็นแสงอาทิตย์

โดยหนึ่งในคนงานที่รอดชีวิต กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะที่พบกับครอบครัวของเขาอีกครั้งว่า

"เหมือนกับได้เกิดใหม่อีกครั้ง"

เชียงราย ไทย ปี ค.ศ. 2018

สมาชิกทีมฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า อะคาเดมี รวม 13 คน หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน หลังเดินทางเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วไม่กลับออกมา โดยมีเพียงจักรยาน รองเท้าฟุตบอล ทิ้งไว้บริเวณหน้าถ้ำ นอกจากนี้ยังมีสัมภาระและร่องรอยมือของเด็กๆ ที่ผนังถ้ำด้านใน

เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต้องระดมกำลังค้นหายาวนานเกือบ 10 วัน ท่ามกลางระดับน้ำที่ท่วมสูงและเชี่ยวกรากภายในถ้ำ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน และอังกฤษ ส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ภัยเข้าระดมความช่วยเหลือในการค้นหาและกู้ภัยอย่างเต็มที่

ในที่สุด ทีมค้นหาและกู้ภัยสามารถดำน้ำไปพบผู้รอดชีวิตทั้งหมดได้ในช่วงค่ำของวันที่ 2 ก.ค. แต่ยังคงมีอุปสรรคสำคัญคือการนำตัวเด็กทุกคนและโค้ชออกมาจากภายในถ้ำที่ถูกน้ำท่วม ได้อย่างปลอดภัย

(รายงานจาก AFP / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล)