ดวงดาวยามค่ำคืนถูกแสงไฟฟ้าในเมืองบดบัง

  • Adam Phillips

This Infrared observation of the Orion nebula highlights fledgling stars hidden in gas and clouds. It was taken by NASA’s Spitzer Space Telescope and the European Space Agency’s Herschel mission. (Photo: (NASA/ESA/JPL-Caltech/IRAM )

เมืองต่างๆทั่วโลกกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แสงไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารบ้านเรือนและท้องถนนยิ่งเพิ่มความสว่างมากขึ้นไปอีก สว่างมากจนกลายเป็นมลพิษจากเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง

ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดวงดาว ส่วนหนึ่งในชีวิตของบรรพบุรุษคนเรา มาเดี๋ยวนี้คนบนโลกแทบจะมองไม่เห็นดวงดาวเหล่านี้กันเเล้ว แสงไฟฟ้าที่คนเราใช้กันทั่วไปได้บดบังทรรศวิสัยของท้องฟ้ายามค่ำคืน ปัญหามลพิษทางเเสงกำลังคุกคามหลายๆส่วนของโลกและเป็นประเด็นของสารคดีเรื่อง The City Dark ที่เขียนและกำกับโดยเอียน เชนนี่ (Ian Cheney)

คุณเชนนี่เล่าว่าสารคดีเรื่องนี้เริ่มต้นเรื่องด้วยคำถามง่ายๆว่า คนเราจะสูญเสียอะไรบ้างหากโลกเราไร้กลางคืนและท้องฟ้าที่ไร้ดวงดาว

คุณเชนนี่บอกว่าเด็กส่วนใหญ่สมัยนี้โตขึ้นโดยไม่มีโอกาสได้เห็นทางช้างเผือกที่เต็มไปด้วยดวงดาวหลายพันล้านดวงในระบบจักรวาลที่มีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางและโลกเราเป็นส่วนหนึ่ง เขาบอกว่าภาพทางช้างเผือกที่สวยงามบนท้องฟ้าที่มืดมิดเป็นแรงบันดาลมากมายให้มนุษย์เรา ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ กวี หรือ นักปรัชญา

ศาสตราจารย์ Irving Robbins ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย College of Staten Island กล่าวในสารคดี The City Dark ว่า การดูดาวด้วยตาเปล่าในเมืองใหญ่ๆแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วเพราะแสงไฟในเมืองส่องขึ้นไปสะท้อนกับฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศแล้วกลายเป็นแสงสว่างสีชมพูที่บดบังดวงดาวที่จัดว่าสว่างที่สุดหลายสิบดวง

ศาสตราจารย์ Robbins เปรียบเทียบว่าเวลาที่เรามองท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวก็เหมือนกับเรามีภาพวาดที่สวยงาม แต่แสงไฟจากอาคารบ้านเรือนในยามย่ำคืนเป็นเหมือนยางลบที่คอยลบดาวบนภาพที่งดงามไปทีละดวงจนหมดไปไม่มีเหลือ นี่คือผลของมลภาวะทางแสงที่มีต่อการดูดาวจากโลกมนุษย์

ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ของคนสมัยใหม่ คุณเชนนี่ กล่าวว่า หากเราเปิดไฟตามท้องถนนทิ้งไว้เพื่อความปลอดภัย แสงสว่างส่องลอดเข้าไปตามหน้าต่างห้องนอน และกระจายไปบนท้องฟ้า เขาคิดว่าเป็นการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง

ขณะที่คนเรารู้สึกปลอดภัยเพราะถนนมีแสงส่องสว่าง แสงไฟกลับเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์หลายๆชนิด ทำให้พวกมันหลงทาง

คุณเดวิด วิลเลียด นักสัตววิทยาแห่ง Field Museum ในชิคาโก้ กล่าวว่า นกอพยพพึ่งพาแผนที่ดวงดาวที่ถอดรหัสเอาไว้ในสมอง เป็นตัวช่วยนำทางในการบินอพยพไปทางเหนือในช่วงฤดูใบไม้ผลิและบินลงใต้ในช่วงฤดูในไม้ร่วงก่อนเข้าหน้าหนาว

เขาบอกว่า นกมองเห็นแสงไฟในตัวอาคารต่างๆผ่านทางกระจกหน้าต่าง จึงหลงคิดว่า นั่นเป็นแสงดาวดาวที่ใช้นำทาง นกอพยพจึงบินเข้าหาตัวอาคารและพุ่งชนกระจกหน้าต่างเสียชีวิตปีละพันล้านตัว

นอกจากนี้ แสงไฟฟ้ายังกระทบต่อระบบการนอนหลับพักผ่อนของร่างกายคนเรา ที่ขึ้นอยู่กับการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การทำงานในโรงงานกะกลางคืน ภายใต้แสงไฟฟ้า มีอันตรายต่อสุขภาพของคนเรา

ปัจจุบัน ผู้ผลิตหลอดไฟตอบสนองต่อความกังวลด้านสุขภาพ ด้วยการผลิตหลอดไฟที่เลียนแสงแดดในธรรมชาติให้มากที่สุด ในขณะที่มีความพยายามกันมากขึ้นทั่วโลกที่จะปกป้องท้องฟ้าในยามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดวงดาวเอาไว้ให้ลูกหลานได้เชยชม