ผลการศึกษาครั้งใหม่พบว่า มลภาวะทางแสงบนพื้นโลกส่งผลทำให้ท้องฟ้าสว่างขึ้นในยามค่ำคืน แต่กลับทำให้แสงของดวงดาวริบหรี่ลงในสายตาของผู้คนบนโลก
นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากนักดูดาวมากกว่า 50,000 คนทั่วโลก ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2011 และ 2022 และพบว่า แสงที่มนุษย์สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นนั้นทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืนสว่างขึ้นประมาณปีละ 10% โดยผลการวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science ฉบับเมื่อไม่นานมานี้
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวพบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของความสว่างในท้องฟ้าและการริบหรี่ของแสงดาวที่เกิดจากมลพิษทางแสงนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ในอดีตอย่างมาก
ฟาบิโอ ฟัลคิ (Fabio Falchi) นักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยซานติอาโก เด คอมโพสเตลา (Santiago de Compostela) ในสเปน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ กล่าวว่า "เรากำลังสูญเสียโอกาสที่จะมองเห็นดวงดาว ปีแล้วปีเล่า" และว่า “หากคุณยังมองเห็นดวงดาวที่สลัวที่สุดได้ แสดงว่าคุณอยู่ในที่ที่มืดมาก ... แต่ถ้าคุณเห็นเฉพาะดวงที่สว่างที่สุด แสดงว่า คุณอยู่ในที่ที่มีมลภาวะทางแสงที่รุนแรงมาก"
ทั้งนี้ การที่เมืองต่าง ๆ มีการขยายตัวและติดตั้งหลอดไฟมากขึ้น สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ภาวะ Skyglow หรือ "แสงเรืองรอง" อยู่บนท้องฟ้า โดยนักวิทยาศาสตร์จะใช้คำว่า Skyglow เพื่ออธิบายถึงแสงที่เข้มข้นขึ้น
คริสโตเฟอร์ ไคบา (Christopher Kyba) นักฟิสิกส์ที่ German Research Center for Geosciences ในเมือง Potsdam ผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้บอกกับเอพีว่า การเปลี่ยนแปลงของแสงที่มนุษย์สร้างขึ้นและทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืนสว่างขึ้น 10% ถือเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่เขาคาดไว้
คณะนักวิจัยได้ยกตัวอย่างเพื่ออธิบายผลของการศึกษานี้แบบง่าย ๆ ว่า ลองนึกถึงเด็กคนหนึ่งที่เกิดในคืนวันที่อากาศแจ่มใสและสามารถมองเห็นดวงดาวได้ 250 ดวง แต่เมื่อเด็กคนนี้อายุครบ 18 ปี ก็จะเห็นดาวเพียง 100 ดวงเท่านั้น
ไคบา กล่าวต่อไปว่า “นี่คือมลภาวะของจริง ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตผู้คนและสัตว์ป่า” โดยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อลดมลพิษทางแสงให้มากขึ้น อย่างเช่น การกำหนดข้อจำกัดการติดตั้งหรือเปิดไฟในบางชุมชน เป็นต้น
การศึกษาครั้งที่ผ่าน ๆ มาเกี่ยวกับแสงประดิษฐ์ที่เกิดจากมนุษย์นั้นใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของโลกในยามค่ำคืน ซึ่งทีมศึกษาประเมินว่า ความสว่างของท้องฟ้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2%
อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมที่ใช้ในการศึกษาที่ว่าไม่สามารถจับความสว่างแบบที่สเปกตรัมของแสงมีปลายความยาวคลื่นเป็นสีน้ำเงินได้ ซึ่งรวมถึงแสงที่มาจากหลอดไฟ LED แบบประหยัดพลังงานด้วย โดยนักวิจัยชี้ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของไฟที่ใช้นอกตัวอาคารแบบใหม่ที่นำมาใช้ในสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นหลอดไฟ LED ที่ว่า
ขณะเดียวกัน ดาวเทียมนั้นสามารถค้นหาแสงที่ส่องขึ้นด้านบน เช่น สปอตไลท์ ได้ดีกว่าแสงที่ส่องจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งด้วย
เอมิลี วิลเลียมส์ (Emily Williams) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ซึ่งไม่ได้ร่วมการศึกษาวิจัยนี้กล่าวว่า แสงเรืองรองส่งผลต่อวงจรการทำงานในชีวิตของมนุษย์เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่น ๆ เช่น กรณีของนกที่ต้องบินอพยพย้ายถิ่นฐานนั้นมักจะใช้แสงดาวเพื่อนำทางบนท้องฟ้าในตอนกลางคืน ส่วนลูกเต่าทะเลที่เพิ่งออกมาจากไข่ จะใช้แสงสว่างเพื่อนำทางในมหาสมุทร ดังนั้น มลพิษทางแสงเป็นจึงเรื่องใหญ่สำหรับสัตว์เหล่านี้เช่นกัน
ฟัลคิ นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยซานติอาโก เด คอมโพสเตลา กล่าวเสริมว่า ส่วนหนึ่งของสิ่งที่กำลังสูญหายไปจากการเกิดมลภาวะทางแสงก็คือ ประสบการณ์ของผู้คนทั่วโลกต่อกันรับรู้ความเป็นไปในจักรวาล เนื่องจาก “ท้องฟ้าในยามค่ำคืนนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของแรงบันดาลใจสำหรับงานศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวรรณกรรมมาหลายชั่วอายุคนแล้ว”
- ที่มา: เอพี