‘เลโก้’ ยัน จะไม่หยุดพัฒนาวัสดุ ‘ตัวต่อ’ รักษ์โลก แม้ที่ผ่านมายังไม่เข้าเป้า

ชุดตัวต่อเลโก้ในเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ถ่ายเมื่อปี 2017 (ที่มา:รอยเตอร์)

ผู้ผลิตตัวต่อยี่ห้อดัง ‘เลโก้’ ยืนยันที่จะทดลองหาวัสดุที่ใช้ทำตัวต่อที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป แม้ความพยายามที่ผ่านมาจะยังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไม่ได้

เอพีรายงานว่า ในวันที่ 25 กันยายน แบรนด์ของเล่นดังสัญชาติเดนมาร์กได้ตัดสินใจที่จะไม่เดินหน้าโครงการผลิตตัวต่อด้วยวัสดุที่รีไซเคิลจากขวดพลาสติกที่ทำจากโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต หรือที่เรียกกันว่า PET หลังจากการทดลองที่กินเวลานาน 2 ปี พบว่าวัสดุดังกล่างไม่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน

อย่างไรก็ตาม เลโก้ระบุว่า จะยังคงมุ่งมั่นทำตัวต่อจากวัสดุที่มีความยั่งยืนต่อโลกให้ได้ภายในปี 2032 ที่บริษัทตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 37% ภายในเวลาดังกล่าว

เดิมที เลโก้ผลิตตัวต่อจากพลาสติกที่มีน้ำมันเป็นสารตั้งต้น แต่สองปีที่แล้ว เลโก้มีการวิจัยการใช้พลาสติก PET ซึ่งยังสามารถคงคุณภาพเอาไว้ได้หลังผ่านกระบวนการรีไซเคิล นอกจากนั้น ยังได้ลงทุนไปมากกว่า 1,200 ล้านบาทบนเส้นทางการหาวัตถุดิบทางเลือกประเภทอื่น รวมถึง อี-เมทานอล ที่ผลิตจากคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจน แล้วทำการแยกโมเลกุลของน้ำออกด้วยพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ เลโก้ระบุว่าจะยังคงใช้ ‘ไบโอ-โพลีโพรพิลีน’ ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทโพลีเอธีลีนที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์หลายอย่างในชีวิตประจำวัน แต่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพื่อผลิตชิ้นส่วนในของเล่นต่าง ๆ อยู่

เลโก้ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1932 กล่าวว่า ทางบริษัทเชื่อว่า “ในระยะยาว สิ่งนี้จะส่งเสริมให้มีการเพิ่มการผลิตวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน เช่น น้ำมันรีไซเคิล และช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่วัสดุที่มีความยั่งยืนของพวกเรา”

  • ที่มา: เอพี