เมื่อวันศุกร์ หัวหน้าทนายของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพลเรือนเมียนมาร์ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาออกคำสั่งปิดปากเขาโดยให้เหตุผลว่าการสื่อสารของเขาอาจทำให้เกิด “ความไม่มั่นคง” ขึ้นได้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
สื่อทางการของเมียนมาไม่รายงานความคืบหน้าของคดีต่างๆ ที่นางซู จี เผชิญหลังถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนายขิ่น หม่อง ซอว์ ทนายของนางซู จี เป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่สาธารณะสามารถรับทราบถึงความคืบหน้าของคดีและสภาพความเป็นอยู่ของนางซู จี ได้
ทนายผู้นี้ระบุในโพสเฟซบุ๊กว่า เขาถูกสั่งห้ามพูดคุยกับสื่อ นักการทูต องค์กรระหว่างประเทศ และรัฐบาลต่างชาติ หลังจากนั้น เขาเผยแพร่คำสั่งดังกล่าวที่ระบุว่า “การสื่อสารของนายขิ่น หม่อง ซอว์ อาจทำให้เกิดการคุกคาม กระทบผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย อาจทำให้เกิดการจลาจลและสั่นคลอนความสงบสุขของสาธารณะ”
คำสั่งฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า “สื่อท้องถิ่นและสื่อต่างชาติบางเจ้า สื่อผิดกฎหมาย และสื่อ (อื่นๆ) ปลุกปั่นข้อมูลเท็จที่อาจทำให้ประเทศไม่มั่นคง”
โฆษกของกองทัพเทียนมาไม่ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ ณ เวลาที่เผยแพร่รายงานนี้
ทั้งนี้ นางซู จี ถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เธอยังไม่มีช่องทางสื่อสารกับโลกภายนอกนอกจากผ่านทนายที่เธอพบขณะขึ้นศาลเท่านั้น
ผู้นำพลเรือนเมียนมาเผชิญข้อหาหลายคดี เช่น ละเมิดข้อจำกัดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย ยั่วยุให้สาธารณะตื่นตระหนก และละเมิดกฎหมายความลับของข้าราชการ
เมื่อวันอังคาร นายขิ่น หม่อง ซอว์ เผยแพร่ตัวสรุปคำให้การของประธานาธิบดีวิน มินต์ ที่เป็นจำเลยร่วมกับนางซู จี โดยนายวิน มินต์ กล่าวกับศาลว่า กองทัพบอกให้เขาลาออกไม่กี่ชั่วโมงก่อนเกิดรัฐประหารขึ้น ไม่อย่างนั้นเขาอาจเป็นอันตราย แต่เขายืนยันว่าจะไม่ลาออก
ทนายของผู้นำพลเรือนเมียนมาระบุว่า นางซู จี ขอให้เขาเผยแพร่คำให้การของนายวิน มินต์ ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นคำให้การแรกของเขาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร
นางซู จี เป็นผู้นำรัฐบาลเรือนหลังพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งเมื่อปีค.ศ. 2015 อย่างถล่มทลาย หลังกองทัพปกครองประเทศโดยตรงมาราว 50 ปี
เมื่อวันพุธ นายจอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุในแถลงการณ์ว่า คดีของนางซูจีเข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นธรรมโดยฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ
ทั้งนี้ เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นการยุติการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หลังก่อนหน้านี้เมียนมาตกอยู่ใต้การปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จและภาวะเศรษฐกิจชะงักงันมาหลายสิบปี
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)