สมาชิกกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ นับหมื่นคนเดินทางไปยังรัฐฟลอริดาเพื่อร่วมกิจกรรมฉลองวัน Gay Days ในเทศกาลที่มีสีสันที่สุดเทศกาลหนึ่งซึ่งมีการจัดติดต่อกันมาหลายทศวรรษแล้ว แม้จะมีกระแสต่อต้านกลุ่มคนดังกล่าวออกมาจากรัฐบาลท้องถิ่นภายใต้การนำของผู้ว่าการรัฐ รอน เดอซานติส ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ เดอซานติส และสมาชิกรัฐสภารัฐฟลอริดา ผลักดันให้มีการผ่านกฎหมายที่มีเนื้อหาต่อต้านกลุ่มคน LGBTQ+ หลายฉบับเสียจนกลุ่มสิทธิ์คนผู้มีความหลากหลายทางเพศและองค์กรสิทธิพลเรือนอื่น ๆ ต้องออกคำเตือนว่า สมาชิกคนระวังตัวหากจะเดินทางมาที่ฟลอริดา เนื่องจากอาจไม่ปลอดภัยเหมือนที่เคยเป็นมาก็ได้
ถึงกระนั้น Gay Days Inc ซึ่งเป็นผู้จัดงานเทศกาล Gay Days ก็ยังตัดสินใจเดินหน้าจัดงานต่อไป และยังเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจจากทั่วโลกมาร่วมงานการชุมนุมผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของฟลอริดาแล้ว
โจเซฟ คลาร์ก ซีอีโอของบริษัทแห่งนี้ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การที่มีผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากมารวมตัวกันจะเป็นการส่งสารออกไปว่า ทุกคนจะไม่แคร์และยังจะเดินทางมารัฐนี้ต่อไป โดยตั้งความหวังไว้ว่า จำนวนผู้คนไม่ต่ำกว่า 150,000 คน มาร่วมเทศกาลที่ประกอบไปด้วยการไปเที่ยวสวนสนุกทั้งหลาย การเดินเล่นเพลิดเพลินไปกับผู้ที่แต่งตัวชุดคอสตูมไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ การแวะเต้นรำตามคลับตลอดคืน และการร่วมงานเลี้ยงตามสระว่ายน้ำของโรงแรม ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้ไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า
คลาร์ก กล่าวด้วยว่า “นี่ไม่ใช่เวลาที่จะวิ่งหนี ไม่ใช่เวลาที่จะเดินจากไป” และว่า “นี่คือเวลาที่จะแสดงให้เห็นว่า เราชาว queer จะอยู่ที่นี่ ไม่หนีไปไหน (we are here, we are queer and we aren’t going anywhere.)”
ขณะที่ เทศกาล Gay Days ที่จะมีขึ้นนี้สอดคล้องไปกับการฉลองเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการฉลองความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนสนุกชื่อดังมากมาย จะจัดงาน Pride ของตนเองในเดือนตุลาคม
สำหรับไฮไลท์ของเทศกาลนี้จะเกิดขึ้นในบ่ายวันเสาร์ โดยจะเป็นการรวมกลุ่มพลังคนผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้สนับสนุนที่สวน Magic Kingdom ในสวนสนุก ซึ่งเป็นที่ ๆ การจัดงาน Gay Days ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1991 โดยผู้มาร่วมงานจะใส่เสื้อสีแดงเพื่อแสดงตนว่า เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล และร่วมกันเดินพาเหรดที่หน้าปราสาทซินเดอเรลลากัน
อย่างไรก็ดี บรรยากาศการจัดงานปีนี้ไม่น่าจะเหมือนกับปีก่อน ๆ เพราะ ปัจจุบัน ดิสนีย์กำลังต่อสู้ในชั้นศาลกับผู้ว่าฯ เดอซานติสที่ต้องยึดอำนาจการบริหารเขตพื้นที่ที่สวนสนุกและโรงแรมต่าง ๆ ของเครือดิสนีย์ตั้งอยู่ หลังบริษัทสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่แห่งนี้ออกมาประกาศตนต่อสาธารณะว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับใหม่ที่รัฐบาลรัฐผ่านออกมาและผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เป็นทางการว่า Don’t Say Gay หรือ กฎหมายห้ามเรียกว่าเกย์
SEE ALSO: ศึกนี้อีกยาว – ‘ผู้ว่าการฟลอริดา’ ปะทะ ‘วอลท์ ดิสนีย์ เวิลด์’
ในช่วงแรกของการประกาศใช้ กฎหมายนี้สั่งห้ามไม่ให้สอนบทเรียนเกี่ยวกับเพศวิถี (sexual orientation) และ อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ลง แต่ในปีนี้ รัฐบาลฟลอริดาประกาศขยายอำนาจการบังคับใช้ให้ครอบคลุมการการเรียนการสอนทุกชั้นแล้ว นอกจากนั้น ยังมีการออกกฎหมายใหม่ที่มีผลทำให้การบริการแพทย์เพื่อยืนยันเพศสำหรับผู้เยาว์ที่เป็นบุคคลข้ามเพศเป็นอาชญากรรมฉกรรจ์ (felony) และห้ามไม่ให้มีการใช้ห้องน้ำที่ไม่ตรงกับเพศที่บุคคลนั้น ๆ ได้รับการยืนยันเมื่อเกิด รวมทั้งห้ามไม่ให้เด็ก ๆ เข้าชมการแสดงบางประเภท ซึ่งเชื่อว่าเป้นการพุ่งเป้าไปยังการแสดงประเภท drag show เป็นหลัก
ในประเด็นสุดท้ายนี้ มีเหตุการณ์ที่ยืนยันจุดมุ่งหมายของรัฐบาลฟลอริดา ซึ่งก็คือ การที่ทีมงานของผู้ว่าฯ เดอซานติสเดินหน้ายื่นเรื่องของยกเลิกใบอนุญาตจำหน่ายสุราของโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองไมอามี และของศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งหนึ่งที่มีมูลนิธิ Orlando Philharmonic Plaza Foundation เป็นเจ้าของ หลังทั้งสองแห่งจัดการแสดง drag show และพนักงานสืบสวนอ้างว่า มีผู้เยาว์อยู่ในกลุ่มผู้ชมด้วย
และหลังสถานการณ์ลุกลามไปถึงระดับนี้ หลายเมืองในรัฐฟลอริดา เช่น เมืองเซนต์เคลาด์ (St.Cloud) ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองออร์แลนโด ก็ประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมงาน Pride ไปกันแล้ว
พัฒนาการด้านนิติบัญญัติและนโยบายของฟลอริดาทั้งหมดนี้ทำให้กลุ่ม Human Rights Campaign ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิ์สำหรับผู้มีความหลากหลายทางแพทย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ต้องออกคำเตือนสำหรับการเดินทางและการย้ายถิ่นฐานให้กับผู้ที่มีแผนจะมาที่รัฐนี้ หลังมีองค์กรสิทธิ์หลายแห่งออกคำเตือนแบบเดียวกันนี้มาแล้ว
และแม้จะมีการเดินหน้าจัดงาน Gay Days ในเมืองนี้ รายการแข่งขัน Pride Cup ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของเทศกาลต้องถูกยกเลิกไป เมื่อผู้แข่งขันบางคนตัดสินใจไม่มาร่วมงาน เช่น การแข่งขันดอดจ์บอล (dodgeball) และแฟลก ฟุตบอล (flag football) ซึ่งเป็นกีฬาที่ดัดแปลงมาจกอเมริกันฟุตบอล
- ที่มา: เอพี