การประชุมสุดยอดอาเซียนที่ลาวมุ่งแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา

  • VOA

ป้ายงานประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ ในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อ Signage is seen at the National Convention Centre 7 ต.ค. 2567

ประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งกรณีเหตุความรุนแรงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และการที่รัฐบาลกรุงเนปิดอว์ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนได้คือ หัวข้อหารือหลักในการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิกกลุ่มในปีนี้ในระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม

ลาวเปิดบ้านต้อนรับผู้นำและตัวแทนจากรัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 ที่กรุงเวียนจันทน์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอันเคร่งครัดรอบ ๆ พื้นที่จัดงาน

เจ้าหน้าที่จัดงานบอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า น่าจะมีผู้แทนจากชาติต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ราว 2,000 คน พร้อม ๆ กับผู้สื่อข่าวอีกประมาณ 1,000 คน

รัฐบาลทหารเมียนมาตัดสินใจส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเข้าประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่บรรดากลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ และกลุ่มต่อต้านกองทัพเมียนมาก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักที่ระบุว่า การยอมให้เมียนมาเข้าร่วมประชุมก็เหมือนการยอมรับว่า รัฐบาลทหารมีความชอบธรรมแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลทหารเมียนมาและกระทรวงการต่างประเทศลาวไม่เปิดเผยว่า ใครจะเป็นผู้แทนเมียนมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนปีนี้

ธงชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียนที่หน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติ สถานที่จัดรประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร เรียกร้องอาเซียนให้ไม่เชิญเมียนมาเข้าประชุม โดย จอ ซอ โฆษกของ NUG บอกกับ วีโอเอ ในการสัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า “สภากองทัพไม่ได้เป็นตัวแทนเมียนมา และไม่มีใครที่พวกเขา(กองทัพ)แต่งตั้งควรได้รับเชิญ”

จอ ซอ กล่าวด้วยว่า “ถ้าจะมีใครเป็นตัวแทนเมียนมา นั่นต้องเป็นเสียงที่แท้จริงของประชาชน องค์กรพลเรือนกว่า 200 แห่งได้เรียกร้องให้มีการยุติความขัดแย้ง ขณะที่ เราก็สนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ ด้วย แต่การขาดซึ่งความร่วมมือกลายมาเป็นปัจจัยขัดขวางความคืบหน้า(ในเรื่องนี้)”

SEE ALSO: ที่ประชุมสุดยอด 'อาเซียน' บรรลุข้อตกลง 5 ข้อเกี่ยวกับเมียนมา

โฆษก NUG ยังกล่าวย้ำถึงความจำเป็นของการดำเนินการต่าง ๆ โดยนานาชาติซึ่งรวมถึงกลุ่มอาเซียนเอง ในการทำให้รัฐบาลทหารรับผิดชอบต่อเรื่องราวทั้งหมด โดยระบุว่า “เมียนมาตกอยู่ในวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่มีผู้ลี้ภัยสงครามราว 4 ล้านคนและเหยื่อเหตุน้ำท่วมกว่า 1 ล้านคน ... อาเซียนและประชาคมโลกต้องเร่งเข้าแทรกแซงให้เป็นผลได้แล้ว”

นอกจากรัฐบาลเงาแล้ว องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาสังคมต่าง ๆ จำนวน 237 แห่งจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังอาเซียนเพื่อขอให้ไม่เชิญรัฐบาลทหารเข้ามาร่วมกิจกรรมใด ๆ อีกเลยในอนาคต โดยชี้ว่า ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมกว่า 500 ครั้งของอาเซียนตั้งแต่ ปี 2021 มา ไม่ได้มีความคืบหน้าในการสร้างสันติภาพในประเทศขึ้นเลย

สำหรับวาระการประชุมอื่น ๆ ในปีนี้ รายงานข่าวระบุว่า จะมีการพูดถึงประเด็นสถานการณ์โลกต่าง ๆ ทั้งสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส เนื่องจากมีประชากรของบางประเทศในอาเซียนที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งเหล่านี้ด้วย

และในวันที่ 11 ตุลาคม ลาวจะส่งต่อบทบาทการเป็นเจ้าภาพหมุนเวียนอาเซียนให้กับมาเลเซียต่อไป

  • ที่มา: วีโอเอ