นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่เกี่ยวโยงกับปรากฎการณ์ La Nina ที่ทำให้น้ำในแปซิฟิคเย็นลง และกระทบถึงการอพยพตามฤดูกาลของนก

  • Art Chimes
    Nittaya Maphungphong

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่เกี่ยวโยงกับปรากฎการณ์ La Nina ที่ทำให้น้ำในแปซิฟิคเย็นลง และกระทบถึงการอพยพตามฤดูกาลของนก

นักวิทยาศาสตร์ระบุการเชื่อมโยงระหว่างปรากฎการณ์ La Nina กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดความหวังว่า จะสามารถพยากรณ์ได้ว่า จะมีไข้หวัดใหญ่ระบาดขึ้นเมื่อไร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการเตรียมตัวรับมือได้ดีขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ระบุการเชื่อมโยงระหว่างปรากฎการณ์ La Nina กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดความหวังว่า จะสามารถพยากรณ์ได้ว่า จะมีไข้หวัดใหญ่ระบาดขึ้นเมื่อไร


นักวิทยาศาสตร์ Jeffrey Shaman ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่า เมื่อพิจารณาดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั้งสี่ครั้งในช่วงคริสตศตวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่า การระบาดเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เกิดปรากฎการณ์ La Nina ในมหาสมุทรแปซิฟิค

La Nina คือปรากฎการณ์ที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิคเย็นลง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านดินฟ้าอากาศได้ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเส้นทางการอพยพตามฤดูกาลของนกด้วย และในการส่งผลกระทบดังกล่าวนี้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า นกเป็นพาหะของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เมื่อเส้นทางการอพยพต้องเปลี่ยนไปเพราะดินฟ้าอากาศ นกจะพบกับนกพันธุ์อื่นๆที่ไม่เคยสังสรรกันมาก่อน และก็อาจเป็นพาหะของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่แตกต่างออกไป ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ระหว่างกัน และก่อกำเนิดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ กระบวนการที่ว่านี้เรียกว่า Reassortment

นักวิทยาศาสตร์ Jeffrey Shaman บอกว่า เท่าที่คาดกันในตอนนี้ ก็คือ มีความเป็นไปได้ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถแพร่ไปสู่มนุษย์ได้ทั่วโลก

ปรากฎการณ์ La Nina นี้ เกิดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี และส่วนใหญ่แล้ว จะไม่มีโรคระบาดตามมา แต่ดูเหมือนว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดดูจะเพิ่มขึ้นหลังปรากฎการณ์ La Nina

ขั้นต่อไปที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาหาความรู้ต่อไป ก็คือ การทำความเข้าใจให้ดีขึ้นว่า นกและเชื้อไวรัสที่นกเป็นพาหะให้นี้ ได้รับความกระทบกระเทือนจาก La Nina อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้นี้เชื่อว่า ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้พยากรณ์ได้ดีขึ้นว่า จะเกิดโรคระบาดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการเตรียมตัวรับมือได้ดีขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences