อปป้าอินอเมริกา! ชาวอเมริกันอ้าแขนรับกระแสซีรีย์เกาหลี

TV-K-Dramas Popularity

ชาวอเมริกันอ้าแขนรับกระแสซีรีย์เกาหลี หรือ K-Drama หลังจากความสำเร็จถล่มทลายของแนวเพลง K-Pop ที่โด่งดังไปทั่วโลก ตามรายงานของเอพี

Carol Holaday ใช้เวลาว่างก่อนเข้านอน รับหน้าที่เป็นอาสาสมัครแปลคำบรรยายในซีรีย์เกาหลี หรือ K-dramas ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Rakuten Viki ซึ่งเธอมีประสบการณ์แปลให้กับแพลตฟอร์มนี้มาถึง 200 เรื่องแล้ว

แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Viki เป็นแหล่งรวมซีรีย์จากญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไต้หวัน และมีผู้ใช้บริการไปทั่วโลก แต่ฐานคนดูขนาดใหญ่นั้นอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดย 75% ไม่ใช่ชาวเอเชียแต่อย่างใด

นี่จึงเป็นหน้าที่สำคัญของอาสาสมัครที่เข้ามาแปลคำบรรยายในซีรีย์เอเชียนต่างๆ ซึ่งจะมีระดับขั้นของนักแปลในสตรีมมิ่งนี้ ซึ่งอ้างอิงตามคุณภาพและปริมาณของงานแปลในแพลตฟอร์ม และซีรีย์แต่ละเรื่องจะต้องพึ่งพาอาสาสมัครมากกว่า 1 คน

Holaday ไม่ได้มีพื้นฐานด้านภาษาเกาหลี แต่รับหน้าที่เกลาคำบรรยายภาษาอังกฤษ ทั้งการสะกดคำ หลักไวยากรณ์ และการจัดวางตามช่วงตอนของซีรีย์

Connie Meredith ที่ใช้เวลาวัยเกษียณ มาเป็นนักแปลซีรีย์เกาหลีกว่า 500 เรื่องให้กับ Viki เธอถึงขั้นทุ่มทุนไปเรียนต่อด้านภาษาเกาหลีที่ University of Hawaii เลยทีเดียว เธอยอมรับว่า โครงสร้างไวยากรณ์แตกต่างจากภาษาอังกฤษมาก และมันยากกว่ามากๆ โดยการแปลบทละครเกาหลีเพียง 10 นาที ต้องใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง แต่เธอบอกว่า โดยรวมแล้วมันสนุกพอๆกับการทำปริศนาอักษรไขว้ตามหนังสือพิมพ์เลยทีเดียว

Makoto Yasuda ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ Rakuten Viki บอกว่าการใช้ระบบ crowdsourcing ช่วยให้การแปลบทซีรีย์มีความแม่นยำมากขึ้น ยิ่งมีคนช่วยหลายฝ่ายยิ่งทำให้คุณภาพของคำบรรยายดีขึ้นเท่านั้น โดยนอกจากภาษาอังกฤษแล้ว Viki ยังต้องแปลซีรีย์ในอีก 20 ภาษาภายในเวลา 24 ชั่วโมงด้วย และมีนักแปลน้อยมากที่จะได้รับค่าตอบแทนจากการแปลนี้

Joan MacDonald จากนิตยสารฟอร์บส ที่ติดตามประเด็นสื่อเกาหลี มองว่า รูปแบบ fan translations แบบนี้ทำให้การแปลคำบรรยายสามารถทำได้รวดเร็วกว่าปกติ จากที่แฟนซีรีย์ต่างตั้งตารอคอยตอนต่อไปของเรื่องอย่างใจจดจ่อ ซึ่งแม้ว่าคุณภาพการแปลจะไม่สวยงามเหมือนการแปลมืออาชีพก็ตาม

ตอนนี้ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอ ต่างรุกหนักในการสรรหาซีรีย์เกาหลีมาดึงดูดฐานผู้ชมในอเมริกา จากที่บริการสตรีมมิ่งเป็นประตูเบิกทางให้ซีรีย์จอแก้วแดนกิมจิได้โกอินเตอร์มาหลายต่อหลายเรื่อง

โดย Apple TV+ มีโปรเจคภาษาเกาหลี 2 เรื่อง เป็นซีรีย์เรื่อง “Dr. Brain” และซีรีย์ดราม่าที่อิงจากนิยายของลี มิน จิน “Pachinko” ที่เล่าถึงครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลี 4 ช่วงอายุ ซึ่งจะมีคำบรรยายทั้งภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ

ส่วน Netflix ทุ่มเงินไปเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตเนื้อหาเกาหลีและร่วมทุนกับบริษัทผลิตภาพยนตร์และซีรีย์รายใหญ่อย่าง Studio Dragon และ JTBC โดยก่อนหน้านี้ Netflix ดันซีรีย์ดัง ทั้งเรื่อง “Start-Up”, “It’s Okay to Not Be Okay” (เรื่องหัวใจ ไม่ไหวอย่าฝืน) และ “What’s Wrong With Secretary Kim?” (รักมั้ยนะ เลขาคิม?)

และอีกเรื่องที่ดังไม่หยุดฉุดไม่อยู่ คือ สหายผู้กอง “Crash Landing on You” ที่ได้เมกะสตาร์อย่าง ฮยอนบิน และซอนเยจิน คู่จิ้นที่กลายเป็นคู่จริงมาร่วมสร้างตำนานรัก 2 เกาหลีให้ได้ฟินจิกหมอนบน Netflix มาแล้ว

แม้ว่าอานิสงค์ของระบบสตรีมมิ่งจะหนุนซีรีย์เกาหลี หรือ K-Drama ให้ดังพลุแตกได้ไม่ยาก แต่ในมุมมองของ MacDonald มองว่า เพลงป๊อบเกาหลี หรือ K-pop ก็มีอิทธิพลในการดึงดูดฐานผู้ชมเข้าสู่อาณาจักรซีรีย์เกาหลีด้วยเช่นกัน เพราะนักร้องเกาหลีบางส่วนต่างผันตัวมาเป็นดารานักแสดงจอแก้ว และดาราบางส่วนก็ผันตัวไปเป็นนักร้องเหมือนกัน

Sara Wagner จากรัฐมิชิแกน เติบโตมากับวัฒนธรรมเกาหลี จากที่เพื่อนสนิทของเธอมากว่า 40 ปีเป็นชาวเกาหลี เธอจึงซึมซับวัฒนธรรมต่างๆมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งการกินอาหาร รวมทั้งการชมซีรีย์เกาหลี ถึงขั้นที่ว่า เธอทำไฟล์เอกสารที่รวบรวมเส้นเรื่องซีรีย์เกาหลี ธีมของเรื่อง อาหารการกินที่ปรากฎในซีรีย์ สภาพอากาศในฉากต่างๆ และตอนจบของแต่ละเรื่อง เอาไว้ให้ผู้ที่สนใจใคร่รู้เรื่องซีรีย์เกาหลีได้ไปรับชมตามความปรารถนาได้

Wagner เชื่อว่า การที่ภาพยนตร์ “Parasite” คว้าออสการ์มาได้เมื่อปี 2020 ทำให้ภาพยนตร์เกาหลีได้รับความสนใจมากขึ้น และเมื่อถูกถามว่าควรจะชมภาพยนตร์เกาหลีเรื่องไหนอีกดี เธอแนะนำเรื่อง ‘Train to Busan’ หนังซอมบี้ล้างเมืองที่ได้พระเอกดัง ‘กงยู’ ดีกรีลมหายใจเฮือกสุดท้ายแห่งภาคฟื้นเอเชียแปซิฟิก มารับบทนำในเรื่องนี้

แต่ถ้าพูดถึงซีรีย์แล้ว Wagner สปอยล์เบาๆ เกี่ยวกับซีรีย์ “What’s Wrong with Secretary Kim?” ใน Netflix ว่า มีฉากพระนางใน ep.12 ที่จะต้องฟินจิกหมอนอย่างแน่นอน

(ที่มา: เอพี)