ในวันพุธนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพต้อนรับการเยือนของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยูน ซุก ยอล ที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความเป็นพันธมิตรร่วมของสหรัฐฯและเกาหลีใต้ ซึ่งดำเนินมาสู่ปีที่ 70 กำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ หลายด้าน
ในช่วงที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเป็นเหมือนหนังที่ถูกฉายซ้ำ เมื่อเกาหลีเหนือทดสอบอาวุธ ซึ่งเป็นการยั่วยุ และตามมาด้วยการแสดงแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้
ตลอด 70 ปีที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรกัน ภาพเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และสถานการณ์ใหม่ ๆ พุ่งตรงไปเพื่อทดสอบความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน
โดยประเด็นที่สำคุญที่สุดก็คือ เกาหลีใต้จะมั่นใจในสหรัฐฯได้หรือไม่ว่าจะร่วมปกป้องเกาหลีใต้หากถูกโจมตี
ขณะนี้ เกาหลีเหนือมีศักยภาพที่จะสร้างภัยคุกคามต่อสหรัฐฯได้ถึงแผ่นดินใหญ่อเมริกัน จึงเกิดคำถามขึ้นว่ารัฐบาลกรุงวอชิงตันจะเข้าแทรกแซงความขัดแย้งของสองเกาหลีหรือไม่
คำถามดังกล่าวยังก่อให้เกิดเรื่องเร่งด่วน ที่ว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยูน ซุก ยอล เสนอว่า เกาหลีใต้อาจจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาเอง หากว่าความกังวลด้านความมั่นคงของรัฐบาลตนไม่ได้รับการตอบรับ
รัฐบาลกรุงวอชิงตันพยายามสร้างความมั่นใจ ด้วยการส่งยุทโธปกรณ์ที่ทรงอานุภาพระดับต้น ๆ ในการซ้อมรบ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลโซลต้องการมากกว่านั้น ตามทัศนะของ นักวิเคราะห์ เจนนี ทาวน์ แห่งสถาบัน สติมสัน เซ็นเตอร์ (Stimson Center)
เธอกล่าวว่าเกิดคำถามว่าสิ่งที่สหรัฐฯ แสดงออกเพียงพอแล้วหรือไม่ “ดิฉันมั่นใจว่าเกาหลีเหนือจะยังคงมุ่งหน้าพัฒนาขีปนาวุธที่ยิงไกลข้ามทวีป ... คิดว่าจะมีการเรียกร้องต่อไป แม้ว่าเกิดความซาบซึ้งใจที่สหรัฐฯ ทุ่มเทให้กับประเด็นนี้”
อีกหัวข้อหนึ่งที่สร้างแรงกดดันต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ คือยูเครน
แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่สำคัญประเทศหนึ่งที่ผลิตอาวุธส่องออก แต่รัฐบาลกรุงโซลกล่าวว่า ไม่สามารถแสดงบทบาทติดอาวุธโดยตรงให้กับยูเครน เนื่องจากขัดกับกฎหมายภายในประเทศ
เกาหลีใต้จึงได้แต่ช่วยยูเครนในทางอ้อม ด้วยการอนุมัติการขายอาวุธ เช่น รถถังให้กับโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ช่วยติดอาวุธให้กับยูเครน
จุดตึงเครียดในประเด็นเกี่ยวกับยูเครนถูกเปิดเผยผ่านการแอบนำเอกสารลับของสหรัฐฯ มาเปิดเผย ซึ่งข้อมูลสะท้อนว่า อเมริกาแอบสอดแนมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้
แม้รัฐบาลกรุงโซลไม่ให้ความสำคัญกับข่าวการที่ฝ่ายตนถูกสหรัฐฯสอดแนม แต่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากอาจรู้สึกไม่พอใจ
อาจารย์ปาร์ก วอนกอน แห่งมหาวิทยาลัยอีฮวา กล่าวว่า “เนื่องจากเกาหลีใต้และสหรัฐฯเป็นพันธมิตรกัน และเรื่องเอกสารรั่วไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ทุกคนทราบดีว่าอเมริกาสนใจในประเด็นนี้หรือไม่ เพียงแค่โทรหากัน ฝ่ายเกาหลีใต้จะยินดีตอบคำถาม”
ขณะนี้ประธานาธิบดียูนแห่งเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับคะแนนนิยมในตัวเขาที่ลดลง นักวิเคราะห์จึงกล่าวว่าเขาไม่มีทางเลือกมากในการเดินนโยบายต่างประเทศ ขณะที่เขาหาจุดยืนให้เกาหลีใต้ ให้ใกล้เคียงกับท่าทีของโลกตะวันตก
ในการเยือนกรุงวอชิงตันครั้งนี้ ประธานาธิบดียูนจะพบกับฝ่ายสหรัฐฯ ในบรรยากาศที่น่าจะชื่นมื่น เมื่อเขาร่วมฉลองความเป็นพันธมิตรกับอเมริกาครบรอบ 70 ปี ซึ่งเป็นมิตรภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งสองประเทศ
- ที่มา: วีโอเอ