แถลงการณ์จากพระราชวังบัคกิงแฮมแห่งอังกฤษในวันศุกร์ ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ จะกลับมาออกพระราชกรณียกิจอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หลังจากใช้เวลาพักฟื้นจากอาการประชวรด้วยโรคมะเร็งนานกว่าสามเดือน ตามการรายงานของเอพี
ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรที่ปัจจุบันมีพระชนมายุ 75 พรรษาจะเสด็จเยือนศูนย์รักษาโรคมะเร็งในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรก ก่อนที่จะมีครั้งอื่น ๆ ต่อไปตามกำหนดการในอีกหลายสัปดาห์ถัดจากนี้ ซึ่งรวมถึงการต้อนรับจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นที่จะมาเยือนในเดือนมิถุนายน
แถลงการณ์สำนักพระราชวังไม่ได้ให้ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับอาการประชวรของกษัตริย์ชาลส์ โดยระบุเพียงว่าคณะแพทย์ “มีขวัญกำลังใจอย่างยิ่งจากกระบวนการที่ดำเนินมา และยังคงเชื่อในการฟื้นฟูพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์”
ก่อนหน้านี้ กษัตริย์ชาลส์จะกลับมาทรงงานด้านรัฐกิจอีกครั้งแล้วด้วยการพิจารณาเอกสารจากรัฐบาล และร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดเผยอาการประชวรด้วยโรคมะเร็งแล้ว
แถลงการณ์สำนักพระราชวังระบุว่า “เนื่องในวาระดิถีขึ้นครองราชย์ครบ 1 ปีที่กำลังจะมาถึง พระองค์ (สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3) ยังคงซาบซึ้งถึงความเมตตาและความหวังดีที่ได้รับจากทั่วโลก ตลอดช่วงเวลาแห่งความเกษมสำราญและความท้าทายในช่วงปีที่ผ่านมา”
เอพีรายงานว่า การกลับคืนสู่สายตาของสาธารณะของกษัตริย์พระองค์นี้จะลดแรงกดดันของสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่นที่ต้องทรงงานในกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่พระเจ้าชาลส์และเจ้าหญิงเคทพักฟื้นจากอาการประชวร
สิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็สะท้อนถึงความท้าทายที่เกิดจากความตั้งพระทัยของกษัตริย์ชาลส์ที่จะลดขนาดราชวงศ์ หลังมีเสียงวิจารณ์ว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษมีสมาชิกมากเกินไป และพระญาติห่าง ๆ ยังต้องอาศัยเงินภาษีจากประชาชนเป็นรายรับ
ความตั้งพระทัยข้างต้น ผนวกกับการตัดสินใจของเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ และเมแกน พระชายา ที่ถอนตัวออกจากการเป็นผู้ทรงงานให้กับราชสำนัก ทำให้มีสมาชิกราชวงศ์ที่จะประกอบราชกรณียกิจสำหรับสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่ เช่นการตัดริบบิ้น การพระราชทานรางวัล รวมถึงงานเกี่ยวกับรัฐกิจต่าง ๆ ได้น้อยลง
การกลับคืนสู่พระราชกรณียกิจของพระเจ้าชาลส์ จะเป็นโอกาสให้พระองค์คืนความมีชีวิตชีวาให้กับรัชสมัยของพระองค์ที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปี 2022 ท่ามกลางความคาดหวังถึงการปรับเปลี่ยนสถาบันกษัตริย์ให้มีความทันสมัยและเข้าถึงคนรุ่นใหม่และคนชายขอบมากขึ้น
อีกความท้าทายของพระเจ้าชาลส์ก็คือการเสริมสร้างสัมพันธ์ภายในชาติเครือจักรภพ ที่ยังคงมีชาติสมาชิกอีก 14 ประเทศ ที่ยังคงให้กษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขสูงสุด ซึ่งอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นเครื่องเตือนใจถึงประวัติศาสตร์บาดแผลในฐานะอดีตชาติอาณานิคม
จอร์จ กรอส ผู้ก่อตั้งโครงการ British Coronation Project ที่มหาวิทยาลัย King’s College London กล่าวว่าการหวนคืนสู่สายตาสาธารณชนของกษัตริย์ชาลส์นั้นมีความสำคัญในแง่การจัดการกับข่าวคราวเรื่องอาการประชวร
กรอสกล่าวว่า “เป็นเรื่องยากมากที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ใช้งานได้ โดยที่ประมุขของรัฐห่างหายไปเป็นเวลายาวนาน” และกล่าวด้วยว่า “และจุดนี้ก็รู้สึกเหมือนเป็นเวลาที่ยาวนานมาก”
- ที่มา: เอพี