เกาหลีเหนือหวังเริ่มต้นใหม่กับ ‘ไบเดน’ หลังเจรจา ‘ทรัมป์’ คว้าน้ำเหลว

Military equipments are seen during a military parade to commemorate the 8th Congress of the Workers' Party in Pyongyang, North Korea January 14, 2021 in this photo supplied by North Korea's Central News Agency (KCNA).

ปี 2020 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความหายนะของ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่ต้องเห็นสภาพเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม ซึ่งนอกจากจะเป็นผลของการปิดพรมแดนจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ส่วนหนึ่งยังเกิดจากความล้มเหลวของการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์​ ทรัมป์ ที่ทำให้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังคงอยู่

สำนักข่าว Associated Press รายงานในบทวิเคราะห์ว่า ในปีนี้ คิม จอง อึน ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้เคยเรียกผู้นำเกาหลีเหนือว่าเป็น “อันธพาล”

ในช่วงที่ผ่านมา คิม จอง อึน ได้กล่าวบ่อยครั้งว่าเขาจะทำให้โครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมีแสนยานุภาพยิ่งขึ้นไปอีก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะเปิดช่องให้กับรัฐบาลใหม่ของไบเดนในการเจรจา โดยเคยกล่าวไว้ว่าอนาคตของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนั้นขึ้นอยู่กับว่ากรุงวอชิงตันจะยอมลดนโยบายที่กรุงเปียงยางมองว่า “มุ่งร้าย” ลงหรือไม่

A man wearing a face mask sits in front of a TV screen showing North Korean leader Kim Jong Un, at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, Friday, Jan. 15, 2021. The letters read "Kim Jong Un attended stage in Thursday night's parade…

เกาหลีเหนือนั้นมีประวัติทดลองขีปนาวุธและใช้การยั่วยุอื่น ๆ เพื่อเป็นการทดสอบรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ และทำให้อเมริกาต้องหันมายอมเจรจาด้วย

ในการเดินขบวนสวนสนามของกองทัพล่าสุดในกรุงเปียงยาง คิม จอง อึน ได้นำอายุใหม่ ๆ ออกมาแสดง ซึ่งเป็นอาวุธที่คาดกันว่าจะถูกนำไปทดสอบในอนาคต เช่น ระบบขีปนาวุธ (ballistic system) ที่ออกแบบมาเผื่อยิงออกจากยานยนต์ หรือเรือดำน้ำ และยังรวมไปถึงขีปนาวุธข้ามทวีปที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย

หากมีความตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้งในคาบสมุทรเกาหลี คาดว่าจะทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรเกาหลีใต้ต้องหันมาทบทวนอีกครั้งว่า เกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นไพ่สำคัญในมือมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 หรือไม่ เนื่องจากขีปนาวุธบางชนิดมีวิถีการทำลายล้างไกลถึงสหรัฐอเมริกา

คิม จอง อึนได้พยายามสานสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ความพยายามดังกล่าวของทั้งสามฝ่ายสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2562 เมื่อรัฐบาลของทรัมป์ปฏิเสธที่จะทำตามความต้องการของเกาหลีเหนือ ที่จะให้สหรัฐฯ ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ เพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์เพียงบางส่วนเท่านั้น

S President Donald Trump (L) shakes hands with North Korea's leader Kim Jong Un following a meeting at the Sofitel Legend Metropole hotel in Hanoi on February 27, 2019. (Photo by Saul LOEB / AFP)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ไบเดน จะยังไม่มีเวลาให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนือเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากยังต้องจัดการปัญหาภายในประเทศ ทั้งโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ไบเดนยังต้องมุ่งความสนใจไปที่ จีน และรัสเซีย ตลอดจนการกลับไปทำข้อตกลงทางนิวเคลียร์ร่วมกับอิหร่าน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวเพื่อหันไปใช้การกดดันอิหร่านอย่างหนักแทน

อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือไม่ใช่ประเทศที่จะทนถูกมองข้ามไปได้

ลีฟ-เอริค อีสลีย์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเอวะ ในกรุงโซล เกาหลีใต้ มองว่า คิม จอง อึน ไม่น่าจะรีบอ่อนข้อให้อเมริกาโดยเร็ว ถึงแม้ว่าเกาหลีเหนือจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก จากมาตรการคว่ำบาตร การปิดประเทศ และภัยธรรมชาติที่ทำลายพืชพันธุ์ในประเทศ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกรุงเปียงยางแสดงให้เห็นว่าสามารถทนต่อความยากจนข้นแค้นในประเทศได้ เพราะคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากจีน พันธมิตรที่สำคัญของประเทศ

หากเกาหลีเหนือต้องการยั่วยุรัฐบาลของไบเดน นักวิเคราะห์มองว่าน่าจะเป็นการยิงทดสอบขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ (submarine-launched ballistic systems) ที่จะเป็นเรียกร้องความสนใจจากกรุงวอชิงตันได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นาย ชิน เบียมชูล นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเกาหลีเพื่อยุทธศาสตร์ของประเทศ (Korea Research Institute for National Strategy) มองว่าเกาหลีเหนือยังไม่น่าจะทดสอบอาวุธนิวเคลียร์จนกว่า โจ ไบเดน จะมีแถลงผลงานและนโยบายประจำปีของสหรัฐฯ หรือ State of the Union ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อรอดูท่าทีและนโยบายของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ คิม จอง อึน ยังอาจจะต้องการรอดูด้วยว่า รัฐบาลใหม่ของไบเดน จะยังให้มีการร่วมซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้หรือไม่ ซึ่งการซ้อมรบร่วมกันของพันธมิตรสองประเทศนี้ เป็นชนวนทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะกรุงเปียงยางมองว่าเป็นการซ้อมรบเพื่อรุกรานเกาหลีเหนือ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะบอกว่าเป็นการซ้อมเพื่อป้องกันประเทศ และลดขนาดการซ้อมลงแล้วก็ตาม

President Joe Biden speaks about the coronavirus in the State Dinning Room of the White House, Thursday, Jan. 21, 2021, in Washington. (AP Photo/Alex Brandon)

นายชิน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนักการทูตของประเทศเกาหลีใต้ในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ไบเดน ไม่น่าจะใช้วิธีการทูตแบบบนลงล่าง (top-down diplomacy) หรือ เป็นนโยบายจากผู้กำหนดนโยบายสู่ผู้ปฏิบัติ และไบเดนน่าจะเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าในการใช้การเจรจาในระดับผู้ปฎิบัติการ ที่จะสามารถเอื้อให้เกิดการเจรจากับเกาหลีเหนือที่ใด เมื่อไหร่ก็ได้

นักวิเคราะห์ชาวเกาหลีใต้ผู้นี้ยังมองด้วยว่า ในที่สุด ไบเดน จะมุ่งการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงนิวเคลียร์ลักษณะเดียวกับที่ทำกับประเทศอิหร่าน ที่จะเสนอข้อตอบแทนบางอย่างให้กับเกาหลีเหนือ หากรัฐบาลเปียงยางยอมแช่แข็งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธไม่ให้ก้าวหน้าไปมากกว่านี้ และเขามองว่าความพยายามที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือให้หมดไปนั้น ไม่ใช่เป้าหมายที่สามารถทำได้จริง

คำถามหนึ่งจึงอยู่ที่ว่าเกาหลีเหนือจะยอมรับข้อตกลงนิวเคลียร์แบบอิหร่านหรือไม่ เพราะเกาหลีเหนือนั้นมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ล้ำหน้ากว่ามาก

แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น คือ หากเกาหลีเหนือเลือกที่จะทดสอบขีปนาวุธอีก ไบเดนจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้เข้มข้นขึ้น และกดดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศของเกาหลีเหนือทรุดตัวเข้าขั้นวิกฤติ