Your browser doesn’t support HTML5
การที่วุฒิสมาชิกหญิง คามาลา แฮร์ริส ได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้เกิดความหวังทั้งจากกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและสตรีอเมริกันผิวดำเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในสหรัฐซึ่งจะสร้างตัวอย่างให้กับโลกได้
โดยสำหรับผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียในอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่มักประสบความสำเร็จในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีตัวอย่างให้เห็นจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเช่น Google กับ Microsoft อยู่แล้วนั้น การที่วุฒิสมาชิกคามาลา แฮร์ริส ได้เป็นผู้สมัครแข่งขันรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญ ที่แสดงถึงความสำเร็จสำหรับการเดินทางของคนเชื้อสายอินเดียในอเมริกาอีกด้านหนึ่งด้วย
ดังที่คุณวรุณ เมธา นักวิชาชีพเชื้อสายอินเดียผู้หนึ่ง กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางสังคมในสหรัฐฯ และเป็นตัวอย่างว่าทุกคนมีโอกาสก้าวถึงจุดสุดยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมืองหรือในแง่อื่นใดก็ตาม
ชื่อ "คามาลา" นั้น มีรากศัพท์ที่แปลว่า ดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมของอินเดีย ที่แสดงถึงการมีรากที่หยั่งลึกอยู่ใต้น้ำ ในขณะที่ส่วนของดอกนั้นชูอยู่เหนือน้ำและเบ่งบานรับแสงอาทิตย์
ซึ่งสำหรับ คามาลา แฮร์ริสเอง คุณแม่ของเธอเดินทางออกจากอินเดียไปยังสหรัฐฯ ขณะที่มีอายุเพียง 19 ปี เพื่อทำวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์กลีย์ และต่อมาได้แต่งงานกับชาวอเมริกันเชื้อสายจาเมก้า อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ได้หย่าจากกันเมื่อ คามาลา แฮร์ริส มีอายุได้เพียงห้าปี และมารดาของเธอก็กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ช่วยถ่ายทอดค่านิยมต่างๆที่สำคัญให้กับคามาลา ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา
คามาลา แฮร์ริส เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวและคุณตาคุณยาย ที่เมืองเชนไน ของอินเดียบ่อยครั้ง และเคยพูดถึงอิทธิพลทางความคิดที่เธอได้รับจากคุณตาและคุณยายผู้เป็นข้าราชการพลเรือนของอินเดียด้วย ส่วนคุณน้าและคุณอาของคามาลา แฮร์ริสอีกสามคนนั้น หลายคนก็เปิดรับคนต่างเชื้อชาติต่างผิวพรรณ และเดินตามเส้นทางความฝันของตน อย่างเช่น คุณอาของเธอแต่งงานกับสตรีชาวเม็กซิกัน และคุณน้าอีกคนหนึ่งก็แต่งงานและอาศัยอยู่ในแคนาดาขณะนี้ด้วย
Your browser doesn’t support HTML5
ความรู้สึกตื่นเต้นดีใจกับก้าวสำคัญทางการเมืองของคามาลา แฮร์ริสนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่สมาชิกของครอบครัวและคนเชื้อสายอินเดียในสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะนายราม มัดฮาฟ สมาชิกระดับสูงคนหนึ่งของพรรค BJP ของอินเดีย ก็ได้แสดงความภูมิใจทางทวิตเตอร์เมื่อได้ทราบข่าวเกี่ยวกับคามาลา แฮร์ริสเช่นกัน
แต่คุณอานันด์ มหินทรา นักธุรกิจอินเดียอีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า เรื่องสำคัญกว่าที่ควรคำนึงคือไม่ใช่เพียงแค่ว่าคามาลา แฮร์ริส เป็นสตรีอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองระดับชาติเท่านั้น แต่เธอยังเป็นตัวอย่างของสิ่งที่โลกของเราควรจะเป็น นั่นก็คือ การมีสังคมที่ไร้พรมแดนและการยอมรับคนต่างชาติต่างผิวพรรณ
ความรู้สึกที่ว่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นได้ในกลุ่มคนอเมริกันผิวดำของสหรัฐฯด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสตรี อย่างคุณชิน่า คอคราน ที่กล่าวว่า การมีสตรีผิวสีคนแรกผู้มีชื่ออยู่ในบัตรเลือกตั้งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น เป็นเหมือนการส่งสัญญาณต่อสตรีอเมริกันผิวดำ ผู้เคยต่อสู้เรียกร้องมานานหลายชั่วคน เพื่อให้เสียงและความต้องการของตนเป็นที่สนใจว่า สตรีผิวสีก็มีโอกาสจะก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวได้
และว่าเรื่องนี้เป็นเสมือนเครื่องย้ำเตือนว่า เยาวชนผิวสีที่เป็นคนกลุ่มน้อยในอเมริกามีโอกาสจะบรรลุความฝัน สามารถจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้นได้ และจะสามารถช่วยสร้างความตระหนักรู้ในแง่บวกต่อโลกเกี่ยวกับอเมริกาได้เช่นกัน