รายงานเปิดโปงสัมพันธ์ขุนศึกกะเหรี่ยง ‘ซอว์ ชิต ตู’ กับธุรกิจสีเทาติดชายแดนไทย

พ.อ.ซอว์ ชิต ตู ผู้นำกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (ที่มา: Karen Information Center via RFA)

รายงานฉบับใหม่ของจัสติซฟอร์เมียนมา (Justice for Myanmar) กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารเมียนมา เปิดโปงเครือข่ายธุรกิจของผู้นำและขุนศึกกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ที่เพิ่งมีส่วนในการช่วยกองกำลังต่อต้านยึดเมืองเมียวดีในเดือนเมษายน ก่อนที่จะแปรพักตร์กลับไปช่วยรัฐบาลทหารเมียนมา

รายงานที่เพิ่งเผยแพร่ในวันพุธตามเวลาท้องถิ่นเมียนมา ฉายภาพรวมของธุรกิจที่ พ.อ.ซอว์ ชิต ตู ผู้นำกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) หรือเดิมใช้ชื่อกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) รวมถึงสมาชิกครอบครัวและนายทหารระดับสูง ซึ่งมีธุรกิจและบุคคลจากมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา และฮ่องกงมีส่วนเกี่ยวข้อง

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลธุรกิจแบบเปิดและเอกสารทางการที่รั่วไหลออกมา จัสติซฟอร์เมียนมาอ้างว่าธุรกิจที่เครือข่ายเหล่านี้ดูแลหรือมีหุ้นส่วนนั้นเกี่ยวข้องกับพลังงาน เหมือง การท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจผิดกฎหมาย เช่นขบวนการคอลเซ็นเตอร์ คาสิโนและพนันผิดกฎหมายในพื้นที่ที่มีรายงานกิจกรรมดังกล่าวมาต่อเนื่อง เช่น ตงเหมยปาร์ค เคเคปาร์ค เมืองเมียวดี และโครงการเมืองใหม่ ชเว ก๊กโก ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย

Your browser doesn’t support HTML5

รายงานเปิดโปงสัมพันธ์ขุนศึกกะเหรี่ยง ‘ซอว์ ชิต ตู’ กับธุรกิจสีเทาติดชายแดนไทย

โครงการเมืองชเว ก๊กโก เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกองกำลัง KNA และเสอ จื้อเจียง นักธุรกิจชาวจีน ประธานบริษัทหย่าไท่ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง กรุป ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและคาสิโนทั้งในกัมพูชาและฟิลิปปินส์

เสอ จื้อเจียง ถูกจับกุมในไทยเมื่อปี 2022 ตามหมายจับตำรวจสากล เพื่อส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีน ในความผิดฐานประกอบกิจการพนันผิดกฎหมาย ตามการรายงานของรอยเตอร์

รายงานยังระบุถึงการปรากฏตัวของตัวแทนธนาคารไทย 4 แห่ง ได้แก่ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ที่เดินทางไปยังเมืองชเว ก๊กโก เพื่อสำรวจโอกาสการช่วยเหลือทางการเงินให้กับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ในปี 2020

ทั้งนี้ จัสติซฟอร์เมียนมาไม่สามารถยืนยันได้ว่า KNA บรรลุข้อตกลงอะไรกับธนาคารไทยใด ๆ หรือไม่

ฝ่ายส่งเสริมภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร EXIM Bank ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยทางอีเมลว่า “จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ยังไม่มีการสนับสนุนทางการเงินใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว” และระบุว่าทางธนาคารมักได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการเสริมสร้างโอกาส และการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุน

วีโอเอไทยติดต่อไปยังธนาคารเอกชนอีกสามแห่ง แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงในช่วงเวลาที่เผยแพร่ข่าว

(ซ้ายไปขวา) พ.อ.ซอว์ ชิต ตู จับมือกับเสอ เจ้อเจียง ในการลงนามขั้นต้นเพื่อจัดทำโครงการ หย่าไท่ สมาร์ท นิว ซีตี้ หรือเมืองชเว ก๊กโก เมื่อปี 2016 (ที่มา: Still from a promotional video via Prachatai)

ยาดานาร์ หม่อง โฆษกของจัสติซฟอร์เมียนมา เรียกร้องให้ประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีบุคคลและนิติบุคคลถูกระบุถึงในรายงาน ตรวจสอบว่ามีการทำธุรกรรมกับธุรกิจที่ผิดกฎหมายและเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาหรือไม่ และขอให้นานาชาติคว่ำบาตรธุรกิจและแกนนำของกลุ่ม KNA

“เจ้าหน้าที่รัฐในภูมิภาคต้องทำหน้าที่มากขึ้นในการตรวจสอบความเกี่ยวข้องของพลเมือง ผู้อาศัย และบริษัทในประเทศตนเอง ในประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติและอาชญากรรมระหว่างประเทศที่กระทำในเมียนมา” ยาดานาร์ หม่อง กล่าว

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซอว์ ชิต ตู ประกาศว่ากลุ่มติดอาวุธ KNA จะเลิกรับเงินเดือนและส่วนแบ่งการสนับสนุนจากกองทัพเมียนมา ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารมีความได้เปรียบและเข้ายึดเมืองเมียวดีได้ แต่ทหารเมียนมาสามารถยึดเมืองคืนในเวลาต่อมา โดยโฆษกกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่ต่อต้านรัฐบาลเมียนมา อ้างว่าทหารเมียนมาเข้าถึงพื้นที่ได้ด้วยความช่วยเหลือของ KNA

รายงานของสถาบันแห่งสันติภาพสหรัฐฯ หรือ USIP (United States Institute of Peace) ในกรุงวอชิงตัน เมื่อปี 2023 ระบุว่าปัญหาอาชญากรไซเบอร์ที่ชายแดนไทย-เมียนมา เป็นปัญหาในระดับโลกทั้งในแง่ความเสียหายจากการโดนหลอกลวงให้โอนเงินและการโดนหลอกไปเป็นแรงงานบังคับ และเมืองชเว ก๊กโก ก็เป็นฐานปฏิบัติการ

รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในปีเดียวกัน ระบุเช่นกันว่าฐานปฏิบัติการอาชญากรรมออนไลน์กระจุกอยู่ที่พื้นที่เมืองเมียวดี ที่อยู่ตรงข้าม อ.แม่สอด ประเทศไทย และในพื้นที่ปกครองพิเศษว้าและโกก้างที่ติดกับมณฑลยูนนานของจีน

ในปี 2023 สหราชอาณาจักรออกมาตรการคว่ำบาตรซอว์ ชิต ตู และ พ.อ.ซอว์ มิน มิน อู นายทหารที่ดูแลธุรกิจสำคัญในนามของ KNA ด้วยเหตุผลว่าพวกเขา “รับผิดชอบ ให้การสนับสนุน หรือรับประโยชน์จากการค้ามนุษย์ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษชเว ก๊กโก” ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีข้อมูลการถูกบังคับให้ทำงานเป็นมิจฉาชีพ และมีการปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างทารุณ

  • ที่มา: จัสติซฟอร์เมียนมา, รอยเตอร์