ปฏิกิริยาหลากหลายจากผู้นำทั่วโลกต่อ ‘ไบเดน’ รับตำแหน่ง

U.S. President Joe Biden signs executive orders in the Oval Office of the White House in Washington, after his inauguration as the 46th President of the United States, U.S., January 20, 2021.

งานพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถือเป็นพิธีที่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ ทั้งไม่มีประชาชนเข้าร่วมงาน และมีกองกำลังสำรอง 25,000 คน ดูแลความปลอดภัยของอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งปฏิกิริยาของผู้นำทั่วโลกต่างๆ ต่อการรับตำแหน่งของผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 46 นี้ ก็แตกต่างจากปกติเช่นกัน

ผู้นำชาติยุโรปที่มีความสัมพันธ์ผันผวนกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างแสดงความ “โล่งอก” ที่ประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่ง


เออร์ซูลา วอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป ระบุว่ายุโรป “กลับมาเป็นเพื่อน” กับทำเนียบขาวอีกครั้ง หลังผ่าน “ช่วงเวลาอันยาวนานสี่ปี” โดยเธอกล่าวว่า ยุโรปรอคอยช่วงเวลาใหม่ของสหรัฐฯ นี้มานาน และยุโรปพร้อมเริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับสหรัฐฯ ที่เป็น “หุ้นส่วนที่เก่าแก่และไว้ใจได้มากที่สุด”

วอน เดอ เลเยน คาดหวังว่า ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะช่วยฟื้นฟูความแตกแยกในสหรัฐฯ และการปฏิญาณตนของเขาจะเป็น “ข้อความแห่งความหวังถึงโลกที่รอคอยให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นเหมือนเดิม”

Your browser doesn’t support HTML5

เกาะติดบรรยากาศพิธีปฏิญาณตน 'โจ ไบเดน'

ยุโรปต้อนรับ ‘ไบเดน’

แฟรงค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี ระบุในแถลงการณ์ว่า วันพุธนี้เป็น “วันที่ดีต่อประชาธิปไตย” ซึ่งเขารู้สึกโล่งใจที่ไบเดนปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาววันนี้ และชาวเยอรมันก็รู้สึกเช่นเดียวกับเขาเช่นกัน

ชไตน์ไมเออร์ชื่นชมความแข็งแรงยั่งยืนของประชาธิปไตยอเมริกัน โดยระบุว่า “ในสหรัฐฯ (ประชาธิปไตย) ยืนหยัดต้านทานแรงกดดันจำนวนมาก แม้จะมีความรุนแรงภายใน แต่สถาบันของอเมริกันก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแข็งแรง ทั้งเจ้าหน้าที่เลือกตั้ง ผู้ว่าการรัฐ ระบบตุลาการ และรัฐสภา”

ทางด้านผู้นำยุโรปคนอื่นๆ หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงเรื่องในอดีตโดยตรง แต่พยายามแสดงความเป็นพันธมิตรที่ดีกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ แทน

British Prime Minister Boris Johnson takes questions in parliament in London, Britain, Jan. 20, 2021 in this still image taken from a video.


นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์ว่า ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคง และการส่งเสริมและปกป้องประชาธิปไตย และทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันเพื่อให้ประเด็นดังกล่าวประสบความสำเร็จ

ผู้นำอังกฤษกล่าวกับสภาสามัญชนว่า เขาจะรอต้อนรับผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ที่จะเดินทางมาประชุมสุดยอด จี-7 ในปีนี้ และการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่จะจัดที่เมืองกลาสโกว์

นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต ของอิตาลี ก็เน้นประเด็นไปที่ความร่วมมือในอนาคตเช่นกัน โดยเขากล่าวว่า อิตาลีจะเริ่มทำงานกับรัฐบาลของไบเดนทันที ในฐานะที่อิตาลีเป็นประธานกลุ่มจี-20 ในปีนี้ โดยทั้งสองประเทศมีวาระร่วมกัน ทั้งความร่วมมือแบบพหุภาคี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความครอบคลุมทางสังคม

ทางด้านนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส ผู้นำสายสังคมนิยมของสเปน กล่าวว่า ชัยชนะของไบเดน เป็นตัวแทนของชัยชนะของประชาธิปไตยเหนือกลุ่มขวาจัด และวิธีการของสายขวาจัด ทั้งการหลอกลวงครั้งใหญ่ การสร้างความแตกแยกในชาติ และการข่มเหงสถาบันประชาธิปไตย

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์และผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปขัดแย้งกันในหลายประเด็น เช่น เรื่องการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โยทรัมป์ตำหนิชาติยุโรปว่า ไม่ทุ่มงบด้านความมั่นคงมากพอ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่รัฐบาลของไบเดนให้ความสำคัญเช่นกัน

ทรัมป์มองชาติยุโรปว่าเป็นศัตรู และตั้งคำถามถึงคุณค่าขององค์กรนาโตที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทวีปสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติคมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ท่าที “พร้อมรบ” ของทรัมป์ยังต่างจากท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ยุโรปเคยพบเจอมาอีกด้วย



เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ทวีตข้อความแสดงความยินดีแก่ประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีแฮร์ริส โดยกล่าวว่า “วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค นาโตที่แข็งแรงนั้นดีต่อทั้งอเมริกาเหนือและยุโรป”

ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีไบเดนเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่มีท่าทีสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและยุโรปมากที่สุด นับตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช โดยนักวางแผนนโยบายของทั่งสองฝั่ง ต่างเตรียมรื้อฟื้นความสัมพันธ์และสร้างความมั่นคงให้ประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองภายใน และความท้าทายจากประเทศสายอำนาจนิยม

ปฏิกิริยาของชาติเอเชียต่อ ‘ไบเดน’

หัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ กระทำ “ความผิดพลาดพื้นฐาน” ด้านยุทธศาสตร์ต่อจีน ก้าวก่ายกิจการภายในของจีน กดขี่และกล่าวโทษจีน และทำลายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อย่างมาก

เธอกล่าวว่า จีนหวังว่ารัฐบาลไบเดนจะ “พบกับจีนครึ่งทาง และผลักดันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้กลับมามีการพัฒนาที่ดีและยั่งยืนโดยเร็วที่สุด บนพื้นฐานของความเคารพร่วมกัน ความเท่าเทียม และผลประโยชน์ร่วมกัน

Supporters of U.S. President Donald Trump hold a banner as they march ahead of the inauguration of President-elect Joe Biden, amid the coronavirus disease (COVID-19) outbreak, at Ginza district in Tokyo, Japan January 20, 2021. REUTERS/Issei Kato


ทางฝั่งญี่ปุ่นนั้น ผู้สนับสนุนทรัมป์ราว 100 คนเดินขบวนบนถนนในกรุงโตเกียว โบกธงชาติสหรัฐฯ และธงชาติญี่ปุ่นพร้อมป้ายที่ระบุว่า ทรัมป์คือ “ผู้ชนะที่แท้จริง” ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน

ทางด้านประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ก็ให้ความสำคัญกับข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปีค.ศ. 2015 ที่ทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลง โดยเขาหวังว่า ไบเดนจะพิจารณาข้อตกลงใหม่และยกเลิกมาตรการลงโทษต่ออิหร่าน

“หากสหรัฐฯ กลับมาร่วมมือกับข้อตกลงนิวเคลียร์ เราจะเคารพข้อผูกพันของเราภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวอย่างเต็มที่” ผู้นำอิหร่านกล่าวกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ - รัสเซีย

ทางฝั่งรัสเซียยังไม่มีท่าทีต่อการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ไม่เปิดเผยท่าทีก่อนพิธีปฏิญาณตนของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ อย่างไรก็ตาม อมิทรี เพซคอฟ โฆษกของปูติน ระบุว่า เขาไม่คาดหวังว่ารัฐบาลของไบเดนจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - รัสเซีย

หนังสือพิมพ์ Izvestia ซึ่งเป็นสื่อทางการของรัสเซีย ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลไบเดน อาจไม่ส่งสัญญาณในแง่บวกเท่าใด อย่างไรก็ตาม มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศฟื้นฟูความสัมพันธ์

กอร์บาชอฟกล่าวกับสื่อทางการ TASS ว่า เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐฯ ในขณะนี้ “น่าวิตกอย่างมาก” และจะต้องมีการทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นปกติ และทั้งสองประเทศไม่สามารถกันตัวเองจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ตลอดไป

Russian President Vladimir Putin delivers his New Year address to members of the government, via teleconference call, at the Novo-Ogaryovo state residence outside Moscow, Russia, Dec. 24, 2020.