ประวัติและผลงาน ‘จิมมี คาร์เตอร์’ ผู้ส่งเสริมสันติภาพ-สิทธิมนุษยชน

ภาพอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน

อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 100 ปี และพิธีศพที่จัดขึ้นตามแบบรัฐพิธีมีขึ้นในวันที่ 9 มกราคม โดยอดีตผู้นำอเมริกันผู้นี้ได้รับการจดจำในฐานะตัวกลางไกล่เกลี่ยสันติภาพในตะวันออกกลางและพื้นที่ขัดแย้งต่าง ๆ และยังเป็นผู้ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในช่วงก่อนและหลังการดำรงตำแหน่ง จวบจนปีท้าย ๆ ของชีวิต

อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เป็นอดีตผู้ว่าการรัฐจอร์เจียที่ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศหลังจากชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1976 และดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ระหว่างปี 1977-1981

Your browser doesn’t support HTML5

ประวัติและผลงาน ‘จิมมี คาร์เตอร์’ ผู้ส่งเสริมสันติภาพ-สิทธิมนุษยชน

สนธิสัญญาคืนคลองปานามา

ในปีแรกของการเข้ารับตำแหน่ง อดีตปธน.คาร์เตอร์ ทำตามที่สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง ด้วยการคืนสิทธิ์การบริหารคลองปานามากลับไปให้รัฐบาลปานามา หลังจากที่กองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้ดูแลคลองแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

แม้จะมีเสียงต่อต้านจากชาวอเมริกันจำนวนมาก แต่เมื่อวันที่ 7 กันยายน 1977 คาร์เตอร์ลงนามในสนธิสัญญาคืนคลองปานามาร่วมกับ โอมาร์ ตอร์ริโฮส ผู้นำปานามาในขณะนั้น ก่อนที่คลองดังกล่าวจะอยู่ในการดูแลของปานามาอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 1999

แฟ้มภาพ - ปธน.จิมมี คาร์เตอร์ ชมการก่อสร้างคลองปานามา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 1978

สนธิสัญญาสันติภาพแคมป์เดวิด

เดือนกันยายน ปี 1978 คาร์เตอร์เชิญนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมนาเฮม เบกิน และประธานาธิบดีอียิปต์ อันวาร์ ซาดัต ร่วมหารือที่แคมป์เดวิด ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตัน เป็นเวลา 13 วัน ก่อนที่จะมีการลงนามในสนธิสัญญา 2 ฉบับที่นำไปสู่การจัดทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างสองประเทศในปีต่อมา

ความสำเร็จทางการทูตในครั้งนั้น คือส่วนสำคัญที่ทำให้คาร์เตอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2002

แฟ้มภาพ - ปธน.จิมมี คาร์เตอร์ ลงนามในสนธิสัญญาแคมป์เดวิด ร่วมกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมนาเฮม เบกิน และประธานาธิบดีอียิปต์ อันวาร์ ซาดัต ที่ทำเนียบขาว เมื่อเดือนก.ย.1978

กฎหมายผู้อพยพ The Refugee Act of 1980

หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง มีชาวเวียดนามจำนวนมากที่ลี้ภัยออกจากประเทศ และเมื่อปี 1979 คาร์เตอร์ประกาศรับผู้อพยพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาสหรัฐฯ เพิ่มอีกสองเท่า ซึ่งเป็นนโยบายที่คนอเมริกันส่วนใหญ่คัดค้าน

และในปี 1980 คาร์เตอร์ผลักดันกฎหมาย the Refugee Act ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของสหรัฐฯ และนำไปสู่การอพยพเข้ามาของผู้ลี้ภัยกว่า 3 ล้านคนที่เข้ามาตั้งรกรากใหม่ในอเมริกา

วิกฤตตัวประกันอิหร่าน

เหตุการณ์สำคัญที่สุดในวาระการดำรงตำแหน่งของคาร์เตอร์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1979 เมื่อพลเมืองอเมริกันกว่า 50 คน ถูกควบคุมตัวไว้ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตหะราน เป็นเวลา 444 วัน

เดือนเมษายน ปี 1980 รัฐบาลคาร์เตอร์อนุมัติปฏิบัติการกรงเล็บเหยี่ยว (Operation Eagle Claw) เพื่อช่วยเหลือตัวประกัน แต่ประสบความล้มเหลว ทำให้มีเจ้าหน้าที่อเมริกันเสียชีวิต 8 คนจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ชนกับเครื่องบินทหาร ซึ่งยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของคาร์เตอร์ในการแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าว และทำให้เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งแก่โรนัลด์ เรแกน ในปีต่อมา ก่อนที่ตัวประกันทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อเรแกนเข้ารับตำแหน่งในปี 1981

แฟ้มภาพ - ปธน.คาร์เตอร์ ตอนรับชาวอเมริกัน 6 คนที่หนีออกมาจากอิหร่านด้วยความ่ชวยเหลือของรัฐบาลแคนาดา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 1980

ศูนย์คาร์เตอร์ เซนเตอร์

หลังพ้นจากตำแหน่ง คาร์เตอร์ยังคงทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการก่อตั้ง Carter Center ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ทำงานในระดับโลกและมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งกว่า 100 ครั้ง

Carter Center ช่วยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่กรณีปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือในปี ค.ศ. 1994 ไปจนถึง การทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างยูกันดาและซูดานในปี ค.ศ. 1999 รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนโครงการพัฒนาบริการสาธารณสุขและกำจัดโรคต่าง ๆ ในพื้นที่ยากจนที่สุดในโลกหลายแห่ง

คาร์เตอร์กับประเทศไทย

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งปธน. จิมมี คาร์เตอร์ เคยเป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อปี 1979 ที่กรุงวอชิงตัน และเคยส่งจดหมายถึงพลเอกเกรียงศักดิ์ เพื่อแจ้งเรื่องการส่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ วอลเตอร์ มอนเดล เยือนประเทศไทยเมื่อปี 1978 เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ้างอิงจากเอกสารของสำนักประวัติศาสตร์ (Office of the Historian) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ปธน. จิมมี คาร์เตอร์ เป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อปี 1979 ที่กรุงวอชิงตัน

หลังพ้นจากตำแหน่ง อดีตปธน.คาร์เตอร์เคยเดินทางเยือนไทยในปี 2002 เพื่อดำเนินโครงการด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นฟูผลกระทบจากภัยสึนามิ และเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจิมมี-โรซาลินน์ คาร์เตอร์ (Jimmy & Rosalynn Carter Work Project) ภายใต้มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ (Habitat for Humanity) โดยได้สร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ครอบครัวชาวไทยในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของไทย

อดีตปธน.คาร์เตอร์ และอาสาสมัครจาก Habitat for Humanity ช่วยกันสร้างบ้านในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งไทย

ทั้งนี้ องค์กร Habitat for Humanity International (Thailand) จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 1998 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยแก่ผู้ขัดสนโดยไม่แสวงหากำไร มีเป้าหมายในการเปลี่ยนสภาพบ้านที่ไม่น่าอยู่ รวมถึงสภาพการไร้ที่อยู่อาศัยให้หมดไปจากชุมชนด้วยการสร้างบ้านที่เรียบง่าย เหมาะสม ราคาถูก ร่วมกับเจ้าของบ้าน โดยได้จัดตั้งเครือข่ายแห่งแรกที่จังหวัดอุดรธานี และได้ขยายโครงการไปยังจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ลำปาง เชียงราย กรุงเทพฯ และภูเก็ต