บ้านขนมปังแบบในนิทาน ‘แฮนเซลแอนด์เกรเทล’ นั้น อาจกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้ เมื่อนักวิจัยจากญี่ปุ่น คิดค้นเทคโนโลยี ‘ซีเมนต์กินได้’ จากเศษอาหาร เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับแนวคิดการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวรับมือภัยพิบัติด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวในญี่ปุ่นได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่น่าทึ่ง ในการเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นซีเมนต์
โคตะ มาชิดะ (Kota Machida) นักศึกษา และศาสตราจารย์ยูยะ ซาคาอิ (Yuya Sakai) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้ร่วมการวิจัยกล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงแต่สามารถยืดหยุ่นโค้งงอได้ คล้ายกับซีเมนต์
นักวิจัยทั้งสองกล่าวว่า วัสดุที่พัฒนาขึ้นนี้จะมีความแข็งแรงกว่าคอนกรีตทั่วไปถึงสี่เท่า นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืน และที่สำคัญยังสามารถกินได้อีกด้วย
ศาสตราจารย์ซาคาอิได้พยายามหาวิธีที่จะแทนที่คอนกรีตที่ทำจากซีเมนต์ด้วยวัสดุที่ยั่งยืน เนื่องจากการผลิตปูนซีเมนต์นั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูงออกสู่อากาศ ตามข้อมูลของกลุ่มวิจัย Chatham House
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องเศษอาหารเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2019 ญี่ปุ่นทิ้งเศษอาหารถึง 5.7 ล้านตัน ซึ่งทางรัฐบาลก็กำลังหาทางลดจำนวนเศษอาหารเหล่านี้ลงให้เหลือ 2.7 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้านี้ด้วย
ตามปกติแล้ว เศษอาหารที่จะไปจบลงในหลุมฝังกลบ หรือปล่อยให้เน่าเสียไป ซึ่งจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาในกระบวนการเหล่านั้น ในตอนนี้เศษอาหารเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ทำคอนกรีต ซึ่งจะเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และสามารถนำมาฝังดินได้หากไม่ต้องการใช้แล้ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ซาคาอิ และ มาชิดะ กล่าวว่า พวกเขาหวังว่าจะสามารถนำวัสดุชนิดใหม่นี้มาแทนที่การใช้พลาสติกและปูนซีเมนต์ และช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากขยะเศษอาหารด้วย
ก่อนหน้านี้ซาคาอิเคยผลิตคอนกรีตจากเศษไม้ จากนั้นก็เปลี่ยนไปใช้เศษอาหารที่ผสมเข้ากับพลาสติก จนกระทั่งสามารถพัฒนาซีเมนต์ที่ทำจากเศษอาหารล้วน ๆ ได้สำเร็จ ผ่านกระบวนการที่ทำให้แห้ง บด และบีบอัดเศษอาหาร ซึ่งพวกเขาปรับระดับความดันและอุณหภูมิการผลิตซีเมนต์จากเศษอาหารนี้ ด้วยอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่หาซื้อได้จากอินเทอร์เน็ต
ศาสตราจารย์ซาคาอิกล่าวด้วยว่า ส่วนที่ท้าทายที่สุดในการพัฒนาซีเมนต์จากเศษอาหาร ก็คือ การที่เศษอาหารแต่ละประเภทต้องการระดับอุณหภูมิและระดับความดันที่แตกต่างกัน พวกเขาได้ใช้เศษอาหารประเภทต่าง ๆ ในการทำซีเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นใบชา เปลือกส้ม กากกาแฟ และเศษอาหารเหลือทิ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ซาคาอิและมาชิดะยังสนุกสนานไปกับการเปลี่ยนรสชาติของซีเมนต์ที่กินได้ด้วยเครื่องเทศชนิดต่าง ๆ ทำให้ซีเมนต์มีสี กลิ่น หรือแม้แต่รสชาติที่แตกต่างกัน
แต่ถ้าต้องการที่จะกินซีเมนต์เหล่านี้ ซาคาอิ บอกว่า จะต้องทำให้ซีเมนต์เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มเสียก่อน
มาชิดะและเพื่อนอีกสองคนได้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Fabula, Inc. โดยพวกเขาได้ร่วมงานกับบริษัทอื่น ๆ ในการใช้วัสดุเหล่านี้ทำผลิตภัณฑ์สำหรับครัวเรือน
ซาคาอิกล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการผลิตซีเมนต์นี้ อาจนำไปใช้สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่สามารถกินได้หากเกิดภัยพิบัติขึ้น อย่างเช่น หากไม่สามารถส่งอาหารให้แก่ผู้ประสบภัยได้ พวกเขาก็สามารถนำที่นอนชั่วคราวซึ่งทำมาจากซีเมนต์ชนิดพิเศษนี้มากินได้
- ที่มา: เอพี