นายกรมต.ญี่ปุ่นเยือนสามประเทศรวมทั้งไทยสัปดาห์นี้ เพื่อหาเสียงสนับสนุนในความขัดแย้งกับจีนและขยายการค้า

นายกรมต. Shinzo Abe เดินทางเยือนอินโดนีเซีย ประเทศไทย และเวียตนามในสัปดาห์นี้

แม้ประเทศทั้งสามและญี่ปุ่นจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกันอย่างแข็งขันอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งของการเยือนครั้งนี้จะเป็นความพยายามที่จะขยายความสัมพันธ์ดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้น ในอีกส่วนหนึ่งนั้น มองกันว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามจะกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเหล่านี้ ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในเรื่องทะเลจีนตะวันออกกำลังมีเพิ่มมากขึ้น


สำหรับประเทศไทย มากกว่า 60% ของการลงทุนจากต่างประเทศไปจากญี่ปุ่น รวมมูลค่าราวๆหนึ่งหมื่นล้านดอลล่าร์ และการเยือนของนายกรมต. ญี่ปุ่นครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา

อาจารย์สมภพ มานะรังสรรค์แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าญี่ปุ่นกำลังพยายามสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรดาสมาชิกของสมาคมประชาชาติอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

อาจารย์สมภพบอกว่า การเยือนครั้งนี้แตกต่างจากแนวทางการทูตของญี่ปุ่นในอดีต และว่า เวลานี้ญี่ปุ่นเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทั่วโลก ซึ่งความมุ่งหมายสำคัญอาจจะเป็นการถ่วงดุลกับบทบาทของจีนก็ได้

นอกจากญี่ปุ่นที่กำลังมีความขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนตะวันออกแล้ว ยังมีฟิลิปปินส์และเวียตนามอีกสองประเทศที่กำลังมีปัญหากับจีนในทะเลจีนใต้ด้วย และทำให้ภาคีทั้งสิบประเทศของอาเซียนแตกออกเป็นสองกลุ่มอย่างน้อย โดยประเทศที่สนิทสนมกับจีนได้ให้การสนับสนุนจุดยืนของจีนในเรื่องนี้

ศาสตราจารย์ Carl Thayer ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการป้องกันประเทศในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า นายกรมต. Abe ของญี่ปุ่นหวังจะสร้างความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์และเวียตนามทางด้านการป้องกันประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก โดยอาศัยที่ประชุมทางยุทธวิธีในการป้องกันประเทศ ซึ่งจัดขึ้นมาใหม่เป็นสื่อ

นักวิชาการผู้นี้ ให้ความเห็นว่า การดำเนินการของญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนฐานะของประเทศทั้งในทางการเมือง การทูต การรักษาความมั่นคง และการป้องกันประเทศ จะกล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นแนวที่สองก็ได้ ถ้ามีใครสงสัยว่าสหรัฐจะให้ความสนใจเอเชียได้ยาวนานแค่ไหน ญี่ปุ่นกำลังแสดงออกว่าตนสนใจ โดยจีนไม่สามารถกีดกันได้ ซึ่งเป็นการตอบโต้กับการที่จีนกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซนกากุทับซ้อนคำกล่าวอ้างสิทธิ์ของญี่ปุ่น

นักวิชาการอาวุโสของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ นาย Ian Storey บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวลานี้ เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมาในช่วงหลังสงครามโลกที่สอง เมื่อญี่ปุ่นถูกวิพากษ์ตำหนิเกี่ยวกับการลงทุนในภูมิภาคนี้

นาย Ian Storey นักวิชาการของ Institute of Southeast Asian Studies ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ในตอนนั้น ญี่ปุ่นถูกตำหนิว่าดำเนินนโยบายจักรวรรดิ์นิยม และอาณานิคมใหม่ โดยช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไป และทุ่มสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาแทนที่ ซึ่งนักวิชาการผู้นี้บอกว่า เป็นคำตำหนิวิพากษ์เกินความจริง เพราะการลงทุนของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ และว่าเวลานี้ จีนกำลังถูกวิพากษ์ตำหนิในลักษณะเดียวกัน

ทางการจีนเองไม่มีถ้อยแถลงออกมาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเยือนสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนายกรมต. ญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ แต่มีคำตำหนิรัฐบาลญี่ปุ่นที่ของบประมาณทางการทหารเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มาก และกล่าวเตือนว่า ความสัมพันธ์ทางด้านการลงทุนระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจะได้รับความกระทบกระเทือน ถ้าจีนถูกยั่วยุ

การค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมาเพิ่มมูลค่าขึ้นไปจนสูงกว่าสามแสนล้านดอลล่าร์แล้ว แต่ในปีที่แล้วลดลงไปมากกว่า 8% หลังความขัดแย้งในทะเลจีนตะวันออกที่ก่อให้เกิดการประท้วงต่อต้านสินค้าของญี่ปุ่นในประเทศจีน