รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติการทดลองปลูกอวัยวะมนุษย์ในสัตว์

Hiromitsu Nakauchi's research centers on creating animal embryos that contain human cells. His team sought approval to grow human cells in animal embryos and then implant them into the uterus of animals. (AFP Photo/SAUL LOEB)

หนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ของญี่ปุ่น รายงานว่า Hiromitsu Nakauchi นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยที่สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ยืนยันการอนุมัติการทดลองปลูกอวัยวะมนุษย์ในสัตว์แล้ว

ศูนย์วิจัยของ Nakauchi ทำการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างตัวอ่อนสัตว์ที่มีเซลล์ของมนุษย์อยู่ในตัว โดยได้ขออนุมัติการปลูกเซลล์มนุษย์ในตัวอ่อนของสัตว์แล้วฝังเข้าไปในมดลูกของสัตว์

เป้าหมายของการวิจัยนี้ก็คือการปลูกอวัยวะของมนุษย์ในสัตว์จนโตเต็มที่ ซึ่งอาจสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ และหากประสบความสำเร็จ อวัยวะดังกล่าวจะสามารถช่วยผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะได้

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากนักวิทยาศาสตร์ที่แสดงความห่วงกังวลในเรื่องจริยธรรม

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งห้ามการทดลองปลูกเซลล์มนุษย์ในตัวอ่อนของสัตว์เป็นเวลานานกว่า 14 วัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีความกังวลว่าอาจนำไปสู่การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตลูกผสมระหว่างสัตว์และยีนของมนุษย์

แต่รายงานของวารสาร Nature ระบุว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าวเมื่อเดือนมีนาคม การยกเลิกคำสั่งนี้ช่วยให้คณะวิจัยของ Nakauchi สามารถปลูกอวัยวะจนโตเต็มที่ โดยจะเริ่มต้นจากการทดลองปลูกอวัยวะตับอ่อนของมนุษย์ในสัตว์ อย่างเช่น หนูทดลอง

Hiromitsu Nakauchi กล่าวว่า ในที่สุดเราก็สามารถเริ่มต้นทำการศึกษาในเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง หลังจากการเตรียมการนานถึง 10 ปี แต่เขาก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสร้างอวัยวะมนุษย์ได้ทันที

ทีมวิจัยของ Nakauchi วางแผนที่จะสร้างตัวอ่อนที่ไม่สามารถสร้างตับอ่อนเองได้ โดยฉีดเซลล์ต้นกำเนิดของมนุษย์เข้าไปในตัวอ่อนเพื่อให้สร้างตับอ่อนจากเซลล์นั้น จากนั้นตัวอ่อนจะถูกฉีดเข้าไปในมดลูกของสัตว์ ด้วยความหวังว่าตับอ่อนเซลล์มนุษย์จะเติบโตขึ้นมาได้

หากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จ นักวิจัยหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถปลูกอวัยวะขนาดเท่าของมนุษย์ในสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น หมูและแกะ ได้

หนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun รายงานว่า แนวทางใหม่กำหนดให้นักวิจัยต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งสัตว์

Nakauchi กล่าวว่า จะปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้ และกล่าวอ้างว่าการทดลองนี้อยู่ในความควบคุมเพื่อป้องกันผลลัพธ์ดังกล่าว และว่าจำนวนเซลล์ของมนุษย์ที่ปลูกในร่างแกะนั้นมีขนาดเล็กมาก ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,000 หรือ 1 ต่อ 10,000 ซึ่งการปลูกถ่ายในอัตราส่วนนี้จะไม่มีทางทำให้เกิดการถือกำเนิดของสัตว์ที่มีใบหน้าเป็นมนุษย์ได้