อธิการบดีในเครือ ‘Ivy League’ ของสหรัฐฯ ชี้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’

Princeton Harvard competition

Your browser doesn’t support HTML5

Ivy League mishegoss


คริสโตเฟอร์ ไอส์กรูเบอร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำในกลุ่ม Ivy League ของสหรัฐฯ และได้ครองตำแหน่งมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของอเมริกามาถึง 11 ปีได้กล่าวผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ The Washington Post เมื่อเดือนตุลาคมว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’

อธิการบดีมหาวิทยาลัยคนดังกล่าวใช้คำว่า mishegoss ซึ่งเป็นภาษายิดดิชเพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ข้างต้น โดยเขาขยายความว่า “ผมเชื่อว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นความหมกมุ่นที่ไร้สาระ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่สถาบัน ผู้ปกครอง และนักศึกษาบางส่วนที่ใส่ใจกับเรื่องนี้มากเกินไป”

โดยปกติแล้วมักมีการเผยแพร่ผลการจัดอันดับดังกล่าวในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงของการยื่นใบสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และโดยเฉลี่ยการค้นหาออนไลน์สำหรับคำว่า “college rankings” ถูกใช้มากกว่า 66 ล้านครั้งซึ่งเว็บไซต์ของสื่อที่จัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคนเข้าไปอ่านมากที่สุดคือ U.S. News & World Report

มหาวิทยาลัยที่อยู่อันดับต้นๆ นั้นมักมีอัตราการรับนักเรียนต่ำกว่า 10% นักเรียนหลายคนมักทุ่มสุดตัว ทั้งแข่งขันกับผู้คนนับหมื่นและเสียเงินค่าใบสมัครที่สูงถึงเกือบ $100 หรือประมาณ 3300 บาท เพื่อให้ตนสามารถสานฝันและเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยยอดนิยมเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League อย่าง Harvard, Columbia, Yale, Stanford และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) เป็นต้น

อธิการบดีไอส์กรูเบอร์วิจารณ์สื่อ U.S. News & World Report ว่าตีพิมพ์รายชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำแบบลวกๆ และไม่มีการชี้ชัดว่ามาตรฐานการให้คะแนนมีที่มาอย่างไรหรือมีความแม่นยำแค่ไหน นอกจากนี้ ยังมีสื่ออื่นๆ หลายแห่งที่พยายามทำการจัดอันดับตามเพราะเห็นว่าสื่อข้างต้นได้รับความนิยมมาก

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของ U.S. News & World Report ได้ระบุว่าเกณฑ์พิจารณาการให้คะแนนมหาวิทยาลัยนั้นมาจากปัจจัย 9 อย่างที่เชื่อว่าสามารถสะท้อนภาพรวมของสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ดี ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ อัตราการสำเร็จการศึกษาและการเรียนจนจบหลักสูตร นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา หนี้สินของนักศึกษา การขยับสถานะทางสังคมหลังจากได้ปริญญาแล้ว อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ทุนการศึกษาและการช่วยเหลือด้านเงิน รวมทั้งคุณภาพความเป็นเลิศของนักเรียน และการบริจาคเงินจากศิษย์เก่า

อธิการบดีไอส์กรูเบอร์ย้ำว่า เขาภูมิใจกับความสำเร็จของมหาวิทยาลัย Princeton และดีใจที่การสอน การวิจัย และความมุ่งมั่นให้บริการสังคมของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่หลายคนชื่นชมและให้การยอมรับ แต่ผู้สมัครเรียนบางคนกดดันตนเองมากเกินไปเพื่อให้สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้บางมหาวิทยาลัยใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องนัก เพื่อที่จะผลักดันให้สถาบันของตนเองเลื่อนขั้นขึ้นไปได้

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2012 Claremont McKenna College ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ออกมาเปิดเผยว่าทางมหาวิทยาลัยได้ส่งคะแนนเฉลี่ยของคะแนนสอบ SAT ที่สูงเกินจริงไปให้ U.S. News & World Report เป็นเวลาถึง 6 ปีติดต่อกัน

อธิการบดีไอส์กรูเบอร์ ทิ้งท้ายว่า การจัดอันดับเป็นการวัดประสิทธิภาพของสถาบันการศึกษาที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากสหรัฐฯ มีมหาวิทยาลัยนับร้อยแห่งซึ่งมีการสอนที่แตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนทุกประเภทที่มีเงื่อนไขและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน และเขาหวังว่าสื่อที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยต่างๆ จะตระหนักถึงสิ่งนี้และนำเสนอรายงานให้แก่ผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นในอนาคต