การวิจัยชิ้นใหม่เปิดเผยว่ากลุ่มอาชญากรรมและกลุ่มติดอาวุธเกี่ยวข้องกับการล่าช้างในอาฟริกา

  • Joe Capua
นักวิจัยชี้ว่ากลุ่มล่าช้างเพื่อตัดงาในทวีปอาฟริกาสามารถข้ามเขตชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อล่าช้างได้โดยไม่ถูกจับกุม

รายงานชิ้นนี้ได้ชื่อว่าคำสาปของงาช้าง (Ivory’s Curse) เป็นการศึกษาว่าใครอยู่เบื้องหลังการล่าช้างเพื่อตัดงาในทวีปอาฟริกา

การศึกษานี้เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอนุรักษ์ Born Free USA กับ องค์กร C4ADS ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการทหารและความมั่นคง

คุณ Adam Roberts ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งองค์การ Born Free USA กล่าวว่าทางองค์การ Born Free USA กับองค์การพิทักษ์สัตว์อีกหลายแห่งได้ทำการรณรงค์ต่อต้านการค้าขายงาช้างเถื่อนมาเป็นเวลานานหลายปีเเล้วแต่ตอนนี้ทางหน่วยงานต้องการข้อมูลว่าใครเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้างาช้างบ้างเพื่อหาทางกระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลกปราบปรามกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังอย่างจริงจัง

คุณ Roberts กล่าวว่านี่เป็นเหตุผลให้องค์การ Born Free USA ว่าจ้างให้หน่วยงาน C4ADS ที่วิเคราะห์ข้อมูลทางการทหารให้ทำการศึกษาเรื่องนี้เพราะเห็นว่าทางหน่วยงานมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการทหารและกลุ่มติดอาวุธเป็นทุนอยู่เเล้ว

การศึกษานี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้าขายงาช้างในระดับภาคพื้น รายงานนี้ระบุว่าในประเทศ Sudan กองกำลังติดอาวุธที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลในความขัดเเย้งใน Darfur สร้างรายได้เเก่กลุ่มจากการล่าช้างเพื่อตัดงา รายงานนี้ยังชี้ด้วยว่ามีการล่าช้างนอกเขตชายแดนของประเทศออกไปหลายร้อยไมล์

ส่วนในประเทศ Somalia รายงานนี้กล่าวว่ากลุ่มติดอาวุธ al-Shabab และกลุ่มเครือข่ายอาชญากรรมเข้าไปล่าช้างใน Kenya ประเทศเพื่อนบ้านและใช้อาวุธที่มาจากเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงในท้องถิ่น

คุณ Roberts แห่งองค์การ Born Free USA กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าคงไม่มีใครตกใจที่รายงานนี้ชี้ว่า Somalia มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าขายงาช้างเถื่อนเนื่องจากมีกลุ่มล่าช้างสามารถข้ามชายแดนจาก Somalia ไปยังประเทศอื่นๆในภาคพื้นได้อย่างไม่มีการจับกุมโดยทางการในประเทศเหล่านั้น คุณ Roberts ชี้ว่าทางการท้องถิ่นในประเทศเหล่านี้ขาดเเคลนทรัพยากรในการปราบปรามหรือเอาผิดกับกลุ่มลักลอบล่าช้างจากประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนในประเทศ Gabon กับ Congo รายงานนี้ชี้ว่ามีการอนุญาตให้เครือข่ายกลุ่มอาชญากรรมจากประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเข้าไปทำการล่าช้างป่าในอาฟริกากลาง คุณ Roberts แห่งองค์การ Born Free USA กล่าวว่าประเทศ Zimbabwe ยังคงเป็นจุดที่มีการล่าช้างป่าเพื่อตัดงารุนแรงที่สุดเเห่งหนึ่ง

เขากล่าวว่าปัญหาการล่าช้างใน Zimbabwe ยังรุนเเรง โดยเป็นผลพวงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีรัฐบาลเบ็ดเสร็จกุมอำนาจมานานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทางองค์การ Born Free USA คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าขายงาช้างเพราะไม่ลงโทษกลุ่มลักลอบล่าช้าง ทำให้การเเก้ปัญหาการล่าช้างในประเทศทำได้ยาก

องค์การ Born Free USA ชี้ว่าการจัดการกับการลักลอบล่าช้างต้องใช้ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างทุกประเทศที่เกี่ยวข้องในการค้าขายงาช้างเถื่อน

คุณ Roberts แห่งองค์การ Born Free USA กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าการแก้ปัญหาการลักลอบล่าช้างในอาฟริกาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลดการบริโภคงาช้างในเอเชียลงเพราะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผล เขาคิดว่าการเพิ่มอาวุธแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าก็ไม่เพียงพอเเต่ควรพยายามทุกวิถีีทางเพื่อป้องกันในทุกจุดตั้งเเต่ต้นจนจบเพื่อไม่ให้มีการล่าช้างตลอดจนปิดเส้นทางการขนส่งงาช้างเพื่อป้องกันงาช้างไม่ให้ไปถึงตลาด

และท้ายสุด เขาหวังว่าผลการศึกษานี้จะช่วยกระตุ้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงต่างประเทศมีส่วนร่วมในงานต่อต้านการลักลอบล่าช้างมากขึ้น