นักวิทยาศาสตร์เร่งหาทางขจัดอาการผิดปกติในร่างกายนักบินอวกาศที่เกิดจากการเดินทางในอวกาศเป็นเวลานาน

  • George Putic
ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด และดูเหมือนอวกาศจะเป็นพรมแดนสุดท้ายที่มนุษย์ต้องการสำรวจ ถึงกระนั้นนักวิทยาศาสตร์ต่างเตือนว่าการสำรวจจักรวาลไกลโพ้นคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้สามารถอาศัยอยู่นอกโลกได้เป็นเวลานาน

ตามรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ใน นสพ.New York Times เวลานี้นักวิทยาศาสตร์กำลังเตรียมพร้อมให้กับบรรดานักบินอวกาศสำหรับภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคารหรือดาวหาง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักบินอวกาศเหล่านั้นสามารถกลับมาถึงพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย แต่ยังคงมีปัญหาหลายอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องขบคิดหาวิธีต่อไป

ประการแรกคือ ร่างกายมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นผิวดาวเคราะห์ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า 70% และร่างกายคนเราก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบในสัดส่วนราว 70% เช่นกัน ดังนั้นการที่ไปต้องไปอยู่ในยานอวกาศซึ่งมีสภาพไร้น้ำหนัก ของเหลวต่างๆ ในร่างกายจะลอยขึ้น ทำให้เกิดแรงดันภายในกระโหลกศีรษะ และขาจะลีบเล็กลง

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์และนักบินอากาศได้ร่วมทำการทดลองบนสถานีอวกาศระหว่างประเทศในวงโคจรรอบโลก และพบว่านักบินทีอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานได้เกิดอาการผิดปกติทางสายตาทีละน้อยๆ และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รูปร่างของดวงตา การทดลองยังพบด้วยว่าอาการดังกล่าวจะเกิดที่ดวงตาข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาการสูญเสียมวลกระดูกเป็นอีกอาการหนึ่งที่มักพบกับนักบินที่ต้องอาศัยอยู่นอกโลกเป็นเวลานานๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเครื่องออกกำลังกายเพื่อช่วยให้นักบินอวกาศเหล่านั้นสามารถรักษาสภาพกระดูกให้แข็งแรงเหมือนตอนที่เดินทางออกไปจากพื้นโลกได้

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบเวลาอยู่นอกโลก เช่นทานอาหารลำบาก นอนไม่หลับ ตลอดจนอาการที่เกิดจากรังสีคอสมิกซึ่งเป็นรังสีที่ไม่มีบนพื้นโลก โดยการทดลองของ Brookhaven National Laboratory พบว่ารังสีคอสมิกอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งและสมองถูกทำลายได้

ปัญหาอีกประการหนึ่งของนักบินอากาศคือการที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับห้องควบคุมบนพื้นโลกได้ตามเวลาจริงหรือแบบ real-time ขณะเดินทางไกลๆ ในห้วงอวกาศ เนื่องจากต้องรอสัญญาณตอบรับของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเวลาหลายนาทีในการสื่อสารแต่ละครั้ง ยังไม่นับรวมปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของนักบินเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ

องค์การอวกาศสหรัฐหรือนาซ่ามีโครงการจะส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารในอีกราว 20 ปีข้างหน้า ซึ่งคำนวณแล้วว่านักบินอวกาศต้องใช้เวลาเดินทางราว 2 ปีครึ่ง ซึ่งนานกว่าเวลาที่เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ในสถานีอวกาศระหว่างประเทศนานที่สุดถึง 6 เท่า ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังพยายามศึกษาถึงผลกระทบจากการอาศัยอยู่ในอวกาศนานๆ อย่างขะมักเขม้น โดยนาซ่ามีแผนจะส่งนักบินอวกาศ 2 คนไปลองใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศระหว่างประเทศเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี ค.ศ 2015 เพื่อลองดูว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะสภาพร่างกายของมนุษย์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพไร้น้ำหนักได้หรือไม่

รายงานจาก George Putic / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล