สื่อรายงานอิสราเอลโจมตีอิหร่าน - รัฐบาลเตหะรานไม่เเสดงท่าทีรุนเเรง

  • VOA

เจ้าหน้าที่อิหร่านประจำการรักษาความปลอดภัยบริเวณสถานที่ของโครงการนิวเคลียร์อิสฟาฮาน

อิสราเอลโจมตีทางอากาศต่ออิหร่านในช่วงก่อนรุ่งสางวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ตามรายงานของสื่อสหรัฐฯ ที่อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อเมริกันและอิสราเอลที่ไม่ประสงค์จะออกนาม

เหตุการณ์นี้เป็นการโจมตีกันไปมารอบล่าสุดระหว่างสองประเทศคู่ความขัดเเย้งในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเทลอาวีฟยังไม่เเสดงความเห็นใด ๆ ส่วนฝ่ายรัฐบาลเตหะรานยังไม่เเสดงท่าทีรุนเเรงต่อเรื่องนี้เเละส่งสัญญาณว่าไม่มีแผนตอบโต้

การสงวนคำพูดของทั้งสองฝ่ายหลังจากเกิดเหตุการณ์ ทำให้ผู้สังเกตการณ์มองว่า ทั้งอิสราเอลและอิหร่านพยายามรักษาบรรยากาศความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามไปไกล ณ เวลานี้

สื่อนิวยอร์กไทมส์และวอชิงตันโพสต์อ้างเจ้าหน้าที่อิสราเอลที่กล่าวว่า รัฐบาลเทลอาวีฟได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศไปยังอิหร่าน

หนึ่งชั่วโมงหลังจากที่สื่อรายการถึงปฏิบัติการของอิสราเอล โฆษกกองทัพรัฐบาลเทลอาวีฟบอกกับวีโอเอว่าไม่มีความเห็น ณ เวลานี้

สื่อทางการอิหร่าน IRNA และ Fars กล่าวว่ารัฐบาลเตหะรานได้ใช้ระบบป้องกันทางอากาศที่เมืองอิสฟาฮานทางตอนกลางของประเทศ เพื่อรับมือกับวัตถุที่พุ่งเข้ามา

สื่อเหล่านี้กล่าวว่า มีเสียงระเบิดขึ้นที่ด้านตะวันออกของชานเมืองดังกล่าว แต่ไม่ได้รายงานว่า เป็นเพราะเสียงที่เกิดขึ้นมาจากการยิงสกัดหรือการระเบิดเมื่อวัตถุกระทบพื้นดิน

ผู้อำนวยการองค์การอวกาศอิหร่านกล่าวว่า ระบบป้องกันทางอากาศยิงโดรนตกหลายลำ

สื่อของรัฐบาลเตหะรานรีบส่งสัญญาณว่า สถานการณ์ไม่ได้รุนเเรง โดยรายงานว่าสถานที่ที่มีนิวเคลียร์ของอิหร่านในเมืองอิสฟาฮานปลอดภัยดี ซึ่งเป็นไปตามคำแถลงของหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ International Atomic Energy Agency ที่กล่าวว่า "ไม่เกิดความเสียหาย" ต่อสถานที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ เมืองอิสฟาฮานยังเป็นที่จอดฝูงเครื่องบินรบ F-14 Tomcats ที่สร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ และขายให้กับอิหร่านก่อนการปฏิวัติอิสลาม ปี 1979

สื่ออิหร่านรายงานด้วยว่า สนามบินหลักที่เตหะรานสำหรับเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศกลับมาให้บริการตามปกติในวันศุกร์

ก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมงสนามบินเหล่านั้นต้องระงับการบิน ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการปฏิกิริยาที่เกิดจากการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล

ชาวอิหร่านประท้วงต่อต้านอิสราเอลในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน ในกรุงเตหะราน

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 เมษายน อิหร่านโจมตีทางอากาศต่ออิสราเอลโดยเชื่อว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลังการระเบิดที่สถานกงสุลอิหร่านที่ซีเรียวันที่ 1 เมษายน แต่ทางการเทลอาวีฟไม่ได้แสดงการยอมรับว่ามีส่วนกับเหตุการณ์ดังกล่าว

หลังจากที่อิหร่านใช้ขีปนาวุธและโดรนยิงใส่อิสราเอล รัฐบาลอิสราเอลเตือนไว้แล้วว่าจะตอบโต้กลับ และในที่สุดก็มีข่าวการโจมตีอากาศจากอิสราเอลสู่อิหร่านในวันศุกร์

แม้ว่าอิหร่านกล่าวว่า หากอิสราเอลโจมตีอิหร่าน รัฐบาลเตหะรานจะตอบโต้ด้วยมาตรการที่เร็วและรุนเเรงกว่า แต่การที่อิหร่านยังไม่ได้มีท่าทีรุนเเรง อาจเป็นเพราะกำลังพยายามเลี่ยงไม่ให้ความตึงเครียดทวีความรุนเเรงไปกว่านี้ ตามความเห็นของอาห์เหม็ด ฟูอาด อัลคาทิบ นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางแห่งสถาบัน Atlantic Council

เขากล่าวว่า อิหร่านน่าจะยังไม่ต้องการให้เกิดความรุนเเรงที่ขยายวงกว้าง ตราบใดที่โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไม่โดนโจมตีโดยตรง

สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่น ๆ ได้เคยเรียกร้องให้อิสราเอลหลีกเลี่ยงการยกระดับความตึงเครียด

เจ้าหน้าที่อเมริกันได้กล่าวไว้ด้วยว่า ไม่ต้องการให้กองทัพสหรัฐฯ ร่วมกับอิสราเอลในการโจมตีอิหร่านกลับ

แต่อัลคาทิบ กล่าวว่า การโจมตีใด ๆ จากอิสราเอล จะมีสหรัฐฯ เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการสนับสนุน การประสานงานกัน หรือการเปิดไฟเขียว

"จึงมีคำถามต่อการอ้างของรัฐบาลไบเดนว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตอบโต้จากอิสราเอล" อัลคาทิบ กล่าว

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคนกล่าววันศุกร์ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีของอิสราเอลในวันศุกร์ และปฏิเสธที่จะยืนยันรายงานว่าที่ว่ารัฐบาลกรุงวอชิงตันได้รับแจ้งถึงแผนของอิสราเอลก่อนปฏิบัติการจริง

"สำหรับรายงานข่าวที่คุณเห็น ผมจะไม่พูดถึงมัน แต่เพียงจะบอกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการเชิงรุกใด ๆ" บลิงเคนกล่าวที่งานเเลงข่าวหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มจี 7 ที่เมืองคาปรี ประเทศอิตาลี

เขาเสริมว่า กลุ่มจี 7 มุ่งความพยายามไปที่ไม่ให้เกิดสงครามในวงกว้างในตะวันออกกลาง

ทางด้านเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติอันโตนิโอ กูเทอเรซ เรียกร้องให้เเต่ละฝ่ายยุติการโจมตี โดยระบุว่า "มันเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องหยุดวงจรที่อันตรายจากการตอบโต้กันไปมาในตะวันออกกลาง"

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า จากนี้ อิสราเอลอาจจะกลับไปให้ความสำคัญกับสงครามในกาซ่ารวมทั้งการต่อสู้กับกลุ่มเฮซบอลลาห์อีกครั้ง

นักวิเคราะห์ อะเล็กซ์ วาทานกา ผู้อำนวยการโครงการอิหร่านศึกษาที่ Middle East Institute กล่าวกับเอพีว่า ทั้งอิสราเอลและอิหร่าน "ไม่ได้พร้อมที่จะกระโจนข้ามขอบเขต" ความขัดเเย้งไปกว่านี้ แต่เขาก็เตือนว่า "เป็นไปได้ว่า เรากำลังจะกลับไปสู่สงครามตัวเเทน" แต่จะเป็นสงครามตัวเเทนที่มีความเสี่ยง "ต่อการปะทุขึ้นเป็นสงครามระหว่างรัฐ ซึ่งเราไม่เคยต้องกังวลแบบนี้มาก่อน"

  • ที่มา: วีโอเอ และเอพี