วิเคราะห์: ชะตากรรม 'กลุ่มไอซิส' หลังการเสียชีวิตของผู้นำสูงสุด

ISIS

Your browser doesn’t support HTML5

ISIS Future

สหรัฐฯ ยืนยันว่าจะไม่มีการฟื้นกำลังของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ISIS ขึ้นมาอีก หลังการเสียชีวิตของนายอาบู อัคร์ อัล-แบกห์ดาดี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า กลุ่มไอซิสถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลระดับผู้นำเพียงไม่กี่คน

นายอาบู อัคร์ อัล-แบกห์ดาดี เริ่มบทบาทในฐานะผู้นำสาขาย่อยของกลุ่มอัล-ไคยด้า ในอิรัก เมื่อปี ค.ศ.2010 ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะของกลุ่มก่อการร้ายนี้ให้กลายเป็นกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอซิส ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีในหลายเมืองทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปลายปี 2015 ในช่วงที่กลุ่มไอซิสกำลังมีอำนาจมากที่สุด กองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ พยายามที่จะสกัดกั้นการขยายพื้นที่การครอบครองของไอซิส โดยใช้การโจมตีทางอากาศสังหารนักรบระดับนำของกลุ่มไอซิสเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยสองวันต่อหนึ่งคน

ในเวลานั้น เจ้าหน้าที่อเมริกันระบุว่ายุทธวิธีการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อกลุ่มรัฐอิสลาม แต่ปฏิบัติการของกลุ่มไอซิสก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี เนื่องจากกลุ่มไอซิสถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีผู้นำคนใดคนหนึ่งเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มอัล-ไคยด้า ในยุคของอุสซาม่า บิน ลาเดน

สำหรับในครั้งนี้ เจมส์ แคลปเปอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวกับวีโอเอว่า แม้การเสียชีวิตของนายแบกห์ดาดี ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของกลุ่มรัฐอิสลาม เนื่องจากเขาคือสัญลักษณ์สำคัญของไอซิส แต่ตนเชื่อว่านั่นยังไม่เพียงพอจะทำให้กลุ่มไอซิสล่มสลาย เพราะบรรดาผู้นำของกลุ่มนี้ถูกฝึกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่มีผู้นำสูงสุดอยู่แล้ว

ด้านคุณไมเคิล โฮโรวิทซ์ นักวิเคราะห์ด้านการก่อการร้ายขององค์กรที่ปรึกษา Le Beck ชี้ว่า ปกติแล้วการเสียชีวิตของผู้นำสูงสุดของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มักจะเป็นช่วงเวลาที่ล่อแหลมที่นำไปสู่ความวุ่นวายภายในของกลุ่มนั้น แต่ในที่สุดกลุ่มก่อการร้ายก็จะสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ได้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มอัล-ไคยด้า ในยุคเปลี่ยนผ่านจากนายบิน ลาเดน ไปเป็นนายอัล-ซาวาฮีรี

สำหรับกลุ่มรัฐอิสลาม รายงานข่าวกรองหลายชิ้นระบุว่าได้มีการวางตำแหน่งการบัญชาการไว้แบบกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง และเชื่อว่ายังสามารถกลับมารวมตัวได้ใหม่หลังการเสียชีวิตของนายแบกห์ดาดี ด้วยจำนวนนักรบราว 10,000 - 15,000 คน และผู้นำอีกหลายร้อยคนที่กระจัดกระจายอยู่ในอิรักและซีเรีย รวมทั้งยังอาจมีเงินทุนมหาศาลราว 300 ล้านดอลลาร์สำหรับการปฏิบัติงานในอนาคต

แนทธัน เซลล์ส ผู้ประสานงานด้านการต่อต้านก่อการร้ายของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุไว้เมื่อเดือนสิงหาคมว่า แม้ดินแดนกาลิเฟดของไอซิสจะถูกทำลายไปแล้ว แต่ชื่อและ 'เครื่องหมายการค้า' ของกลุ่มไอซิสนั้นยังคงอยู่และกระจายไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ไอซิสยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะในระยะสั้น หลังจากที่มีรายงานว่าทหารสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลลับหลายอย่างระหว่างการจู่โจมแหล่งกบดานของนายแบกห์ดาดีที่เมืองบาชีรา

เดวีเอ็ด การ์เทนสไตน์-รอสส์ นักวิเคราะห์ของ Valens Global เชื่อว่า สิ่งแรกที่กลุ่มไอซิสต้องทำ คือการนำมาตรการด้านความปลอดภัยมาใช้เพื่อปกป้องกำลังพลและทรัพยากรต่าง ๆ ที่คาดว่าจะถูกติดตามโจมตีจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในหมู่เครือข่ายสาขาและพันธมิตรของกลุ่มรัฐอิสลามในอัฟกานิสถาน อียิปต์ ลิเบีย และไนจีเรียด้วย

ความท้าทายประการต่อไปคือ ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่แทนนายแบกห์ดาดี? และการเสียชีวิตของผู้นำสูงสุดของกลุ่มก่อการร้ายนี้จะส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของสมาชิกส่วนที่เหลือมากน้อยแค่ไหน? หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมากล่าวถึงการเสียชีวิตของนายแบกห์ดาดีไว้ว่า "ตายเยี่ยงสุนัข!"

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณราฟาเอล กลัคค์ แห่งองค์กรตรวจสอบกิจกรรมของกลุ่มก่อการร้าย Jihadoscope เชื่อว่า การปรากฎตัวของนายแบกห์ดาดีต่อสาธารณชนครั้งแรกในรอบหลายปีเมื่อไม่นานนี้ คือความพยายามสร้างขวัญกำลังใจในหมู่สมาชิกไอซิส เนื่องจากนายแบกห์ดาดีเองอาจจะรู้ตัวว่าคงจะต้องถูกสังหารในเวลาอีกไม่นาน