นักวิทย์ด้านภูมิอากาศยังเห็นต่าง กรณีอัตราการร้อนขึ้นของอุณหภูมิโลก

แฟ้มภาพ - พระอาทิตย์กำลังขึ้นที่เหนือขอบฟ้าถนนหลวงในนครแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565

การศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์บางรายชี้ว่า โลกของเรากำลังอยู่ในภาวะที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปเล็กน้อย แต่หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศยุคใหม่ เตือนว่า โลกไม่เพียงแต่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นในอัตราเร่งความเร็วที่จัดว่าเป็นอันตรายด้วย

เจมส์ แฮนเซน อดีตนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ซึ่งภายหลังได้ผันตัวมาเป็นหนึ่งในแนวหน้ากลุ่มผู้ออกโรงต่อต้านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ออกมากล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนว่า นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา อัตราภาวะโลกร้อนได้เพิ่มขึ้น 50% โดยแฮนเซนให้เหตุผลว่า นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา พลังงานแสงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อนุภาคในชั้นบรรยากาศที่ทำหน้าที่สะท้อนความร้อนกลับออกไปในอวกาศกลับลดลง ซึ่งหมายความว่า ความสามารถในการควบคุมอุณหภูมโลกให้เย็นลงบ้างนั้นลดลงไปด้วย

เจมส์ แฮนเซน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของนาซ่า

แฮนเซนกล่าวว่า ผลการคำนวณระดับความร้อนของโลกอันเป็นผลมาจากมลพิษคาร์บอนแสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ของสหประชาชาติ (United Nations Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC คาดการณ์ไว้อย่างมาก

อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซ่ากล่าวด้วยว่า ตัวเลขอุณภูมิโลกที่ถูกตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ไม่ควรเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมนั้นเป็นตัวเลขที่ทำให้เรา “ตายอย่างหมดท่า” และมองด้วยว่า ตัวเลขเป้าหมายที่ 2 องศาเซลเซียสก็ทำให้โลกอยู่ในภาวะ “อาการเจียนตาย” เหมือนกัน

สำนักข่าวเอพีได้ติดต่อไปยังนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเพื่อสอบถามความเห็นต่อบทความของแฮนเซนที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oxford Open Climate Change และหลายรายแสดงความกังขาต่อการศึกษานี้

โรบิน แลมโบลล์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากวิทยาลัย Imperial College London มองว่า การศึกษาที่ว่านี้มีความหลากหลาย “แต่แทบไม่มีข้อมูลเชิงลึกในการวิเคราะห์ หรือทำการตรวจสอบความสอดคล้อง เมื่อมีการกล่าวอ้างในแบบที่ต่างจากบรรทัดฐานมาก ๆ” และว่า “ดูเหมือนว่าจุดมุ่งหมายหลัก (ของการศึกษา) คือการโน้มน้าวกลุ่มผู้กำหนดนโยบายมากกว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์"

ทางด้าน ไมเคิล มานน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย ผู้ที่เชื่อว่าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในอัตราความเร่งที่เร็วขึ้น แสดงความเห็นแย้งต่อการศึกษาของแฮนเซน โดยเขาโพสต์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้อยู่ในภาวะที่เลวร้ายมากพอแล้ว และไม่จำเป็นต้องกล่าวให้เกินจริงมากขึ้นไปอีก พร้อมชี้ว่า คำกล่าวอ้างของแฮนเซนยังไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักมากเพียงพอ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากสถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA ดูเหมือนจะมีความสอดคล้องกับการวิจัยของแฮนเซนอยู่

การศึกษาของแฮนเซนชี้ว่า ตั้งแต่ปี 1970 ถึงปี 2010 โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยอัตรา 0.18 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นในอัตราอย่างน้อย 0.27 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษหลังจากปี 2010 ซึ่งไม่ต่างจากข้อมูลของ NOAA ที่ชี้ว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.27 องศาเซลเซียส มาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2010

ภาพไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2566

แฮนเซนกล่าวว่า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศล่าสุดซึ่งถูกมองข้ามโดยคณะกรรมการภูมิอากาศของสหประชาชาติ มีความแม่นยำมากกว่าแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่พิจารณาจากสภาพเมฆในมหาสมุทรตอนใต้ซึ่งเป็นแบบจำลองที่นักวิทยาศาสตร์กระแสหลักนิยมใช้อ้างอิง

แต่ ไมเคิล มานน์ จากมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย ยืนยันว่า ภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ คือ สิ่งที่ถูกคาดการณ์กันมานานและไม่ได้มีสิ่งบ่งชี้ถึงความผิดปกติ หรืออัตราความเร่งที่เร็วขึ้น

ทางด้าน ซีค เฮาส์ฟาเธอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากบริษัทเทคโนโลยี Stripe และ Berkeley Earth ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า โลกของเรามีอุณหภูมิที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วและการคำนวณพบว่า ในทุก ๆ 10 ปี อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นราว 0.24 องศาเซลเซียส ซึ่งต่ำกว่าการคำนวณของแฮนเซนที่ระบุไว้เล็กน้อยว่า โลกจะร้อนขึ้น 0.27 องศาเซลเซียส

  • ที่มา: เอพี