แพนด้ายักษ์ในสวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ได้พำนักอาศัยและกลายเป็นขวัญใจชาวอเมริกันในพื้นที่มาเป็นเวลา 23 ปี กำลังจะถูกส่งกลับยังประเทศจีนภายในสิ้นปีนี้ การกลับคืนมาตุภูมิของแพนด้ายักษ์ที่รับบทบาทนักการทูตขนฟูนุ่มในช่วงเวลาที่มิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มห่างเหินลงทุกขณะ อาจสะท้อนถึงทิศทางความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองมหาอำนาจและอาจกระทบต่ออนาคตของแพนด้ายักษ์ด้วยเช่นกัน
ซิง-ซิง และ หลิง-หลิง สองแพนด้ายักษ์ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังสหรัฐฯ ในปี 1972 เป็นของขวัญหายากที่ส่งมาจากจีน ในช่วงที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แพท นิกสัน ได้เดินทางเยือนจีน เป็นครั้งประวัติศาสตร์
แพนด้ายักษ์จากจีน ไม่เพียงแค่เป็นสัญลักษณ์แห่งความปรารถนาดี แต่ยังพ่วงความเป็น soft power ส่งอิทธิพลเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมไปในตัว
เดนนิส ไวล์เดอร์ อาจารย์ด้านเอเชียศึกษา จากมหาวิทยาลัย Georgetown University ให้ความเห็นว่า แพนด้ายักษ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อจีนอย่างมาก แตกต่างจากภาพจำของคนทั่วไป ที่มองว่าจีนนั้นรุนแรง อันเนื่องมาจากประเด็นต่างๆ อย่างเช่น สิทธิมนุษยชนในทิเบตหรือซินเจียง
ในปี 1984 แพนด้ายักษ์ถูกประกาศให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ กรุงปักกิ่งได้ปรับสถานะของแพนด้าจากของขวัญไปสู่การฝากให้เลี้ยงดูชั่วคราวเท่านั้น โดยทำข้อตกลงในการดูแลเป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมทั้งระบุว่าแพนด้ายักษ์มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์
ไวล์เดอร์ มองว่า “พวกเขา(จีน)ตัดสินใจว่า เพื่อช่วยอนุรักษ์แพนด้าในประเทศจีน พวกเขาจะเรียกเก็บเงินจาก(การให้ยืม)แพนด้า สวนสัตว์ต่าง ๆ ยินดีที่จะจ่ายเงินในราคานี้ เพราะอย่างที่บอกไปว่า แพนด้ายักษ์คือสิ่งที่ได้รับความนิยม”
ถัดมาในเดือนธันวาคม ปี 2000 คู่แพนด้า เมย์ ชอง และ เถียน เถียน เริ่มอาศัยอยู่ที่สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียน ในกรุงวอชิงตัน ภายใต้ข้อตกลงการวิจัยและการเพาะพันธุ์ ซึ่งในเวลาต่อมา ข้อตกลงดังกล่าวมีการขยายออกไปอีกหลายครั้ง และทั้งคู่ไม่ใช่แพนด้ายักษ์เพียงกลุ่มเดียว ที่อาศัยในสหรัฐฯ แบบชั่วคราว
เดบอราห์ เซลิกโซห์น อดีตที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสุขภาพ สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง เล่าว่า เรามีแพนด้ายักษ์อีกคู่ที่สวนสัตว์ในนครแอตแลนตา ส่วนแพนด้าในเมืองเมมฟิสและเมืองซานดิเอโก ได้ส่งกลับไปยังจีนแล้ว
ส่วนแพนด้ายักษ์ในกรุงวอชิงตัน รวมถึงลูกของพวกมัน คาดว่าจะถูกส่งกลับไปยังจีนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่า การไม่ขยายข้อตกลง อาจมีความเกี่ยวพันมาจาก ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็เป็นได้
ไวล์เดอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Georgetown University ให้ทัศนะว่า “ผมคิดว่านักวิทยาศาสตร์อเมริกันเต็มใจอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จีนในเรื่องเหล่านี้ และต้องการที่จะทำให้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่น่าเสียดาย ที่ระบบของจีนเป็นเรื่องที่ยากอย่างมาก ในการทำให้วิทยาศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้”
ทางสำนักข่าววีโอเอ สอบถามไปยังทางการจีนในประเด็นดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ
นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ไม่ควรมองข้ามความสำเร็จของการเพาะพันธุ์ และการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ที่เกิดขึ้นในสวนสัตว์ของสหรัฐฯ โดยสวนสัตว์เหล่านี้ได้ช่วยปรับปรุงสถานะสายพันธุ์ของแพนด้า จากเดิมที่อยู่ในสถานะ "ใกล้สูญพันธุ์" ปรับมาเป็นสถานะ "มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์" แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเห็นว่าถึงเวลาสำหรับกลยุทธ์ใหม่ ๆ แล้ว
เซลิกโซห์น อดีตที่ปรึกษาสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง อธิบายว่า “ฉันคิดว่าตอนนี้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นกว่าในอดีตแล้ว ว่าไม่จำเป็นต้องใช้สวนสัตว์ในการอนุรักษ์สัตว์ป่า” เธอชี้ว่าการอนุรักษ์สัตว์ป่า จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปยังการปกป้องแหล่งอาหาร และแหล่งเพาะพันธุ์ของพวกมัน รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในขณะที่ สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียน ในกรุงวอชิงตัน กำลังวางแผนจัดงานอำลาแพนด้า ก่อนที่จะส่งคืนกลับจีน ทางด้านสวนสัตว์ในนครแอตแลนตาเพิ่งประกาศว่า จะจัดส่งแพนด้ายักษ์จำนวนสี่ตัว กลับคืนสู่มาตุภูมิ ในปี 2024
- ที่มา: วีโอเอ