ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปน ระบุในวันพุธว่าเตรียมรับรองรัฐปาเลสไตน์ โดยอ้างเรื่องสงครามอิสราเอล-ฮามาส และความจำเป็นในการบรรลุแนวทางสองรัฐเพื่อสันติภาพอันยั่งยืนในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ โยนัส กาหร์ สโตระ (Jonas Gahr Støre) กล่าวว่า “สงครามคือจุดต่ำสุดของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ดำเนินมายาวนาน สถานการณ์ในตะวันออกกลางไม่ได้เลวร้ายเช่นนี้มาหลายปี”
ผู้นำนอร์เวย์กล่าวว่า “ท่ามกลางสงครามที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับหมื่นคน เราต้องคงไว้ซึ่งทางเลือกเดียวที่แก้ปัญหาทางการเมืองระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีร่วมกัน คือ แนวทางสองรัฐ ใช้ชีวิตเคียงข้างกัน บนสันติภาพและความมั่นคง”
นอร์เวย์ย้ำว่ามีมติระหว่างประเทศเกี่ยวกับความจำเป็นของแนวทางสองรัฐ รวมถึงมติของทางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UNGA ในเดือนนี้ ที่ว่าด้วยการยอมรับปาเลสไตน์ในการเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศ
Your browser doesn’t support HTML5
ด้านนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ กล่าวว่าการตัดสินใจของสเปน อยู่บนพื้นฐานของ “สันติภาพ ความยุติธรรม และความเชื่อมโยงกัน” และว่า “ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนจากคำพูดเป็นการกระทำ”
ส่วนนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ไซมอน แฮร์ริส กล่าวว่า ไอร์แลนด์ยอมรับอิสราเอลอย่างชัดเจนและสิทธิในการดำรงอยู่ "อย่างปลอดภัยและสงบสุขกับเพื่อนบ้าน" แฮร์ริสเรียกร้องให้ปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมดที่กลุ่มฮามาสจับตัวไปในกาซ่าขณะนี้
ทั้งไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปน ระบุว่าการยอมรับรัฐปาเลสไตน์จะมีผลในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้
อิสราเอลเรียกทูตกลับค้านแผนรับรัฐปาเลสไตน์
ทางอิสราเอล แคตซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล สั่งเรียกทูตอิสราเอลประจำไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปนกลับทันทีเพื่อตอบโต้ท่าทีดังกล่าว และว่าการยอมรับรัฐปาเลสไตน์ ถือเป็นการหยิบยื่นรางวัลตอบแทนให้กับฮามาสและอิหร่าน และเป็น “ความไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่เสียชีวิตที่ถูกสังหารในเหตุโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม” พร้อมกล่าวว่า “อิสราเอลจะไม่นิ่งเฉยในการเผชิญหน้ากับผู้ที่บ่อนทำลายอธิปไตยและเป็นอันตรายต่อความมั่นคง”
เอพี ระบุว่า ปัจจุบันมี 140 ประเทศให้การยอมรับปาเลสไตน์ หรือกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสหประชาชาติ แต่ไม่มีมหาอำนาจตะวันตกชาติใดที่กระทำเช่นนั้น และไม่มีความชัดเจนว่าจุดยืนที่แตกต่างจากทั้ง 3 ชาตินี้จะส่งผลอย่างไรต่อท่าทีของชาติตะวันตกในเรื่องนี้
หลัง 3 ประเทศยุโรปประกาศให้การยอมรับรัฐปาเลสไตน์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เดวิด คาเมรอน กล่าวว่า จะไม่มีการยอมรับรัฐปาเลสไตน์ระหว่างที่ฮามาสยังอยู่ในกาซ่า แต่มันอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการหารือระหว่างตัวแทนอิสราเอลและปาเลสไตน์
Your browser doesn’t support HTML5
ด้านฝรั่งเศส ระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมกับชาติอื่น ๆ ในการยอมรับรัฐปาเลสไตน์ แม้ว่าจะไม่คัดค้านในแนวคิดนี้ในเชิงหลักการก็ตามที โดยรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสสเตฟาน เซจอร์เน่ ให้ความเห็นหลังการหารือแบบปิดกับรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลในวันพุธว่า การยอมรับรัฐปาเลสไตน์จะต้อง “เกิดประโยชน์” ในการผลักดันแนวทางสองรัฐ และการกระทำดังกล่าวในเวลานี้ไม่ได้ให้ผลที่แท้จริงในการผลักดันเป้าหมายดังกล่าว
การยอมรับรัฐปาเลสไตน์ของทั้ง 3 ประเทศถือเป็นความสำเร็จสำคัญของปาเลสไตน์ ที่เชื่อว่าตนมีความชอบธรรมในเวทีโลก โดยกรณีของนอร์เวย์ ระบุว่าจะมีการเพิ่มระดับให้มีการตั้งสถานทูตปาเลสไตน์ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในกระบวนการในกรณีของไอร์แลนด์และสเปน
นักวิเคราะห์มองว่า ในระยะสั้นสิ่งนี้จะส่งผลต่อปฏิบัติการภาคพื้นดิน การเจรจาสันติภาพหยุดชะงัก และรัฐบาลอิสราเอลจะคัดค้านสุดกำลังในการยอมรับรัฐปาเลสไตน์
ความช่วยเหลือถูกระงับ
ส่วนสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซ่า สหประชาชาติได้ระงับการจัดส่งอาหารไปยังเมืองราฟาห์ ตอนใต้ของกาซ่า เนื่องจากเสบียงที่ร่อยหรอและความไม่ปลอดภัยในการขนส่ง จากปฏิบัติการทางทหารที่ดำเนินอยู่ในเมืองราฟาห์
อีกด้านหนึ่ง องค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรงพยาบาลอัล-อาวด้า ตอนเหนือของกาซ่า “ถูกบุกยึดตั้งแต่ 19 พฤษภาคม โดยไม่มีใครสามารถเข้าออกพื้นที่ได้เลย” และมีคนไข้ 22 รายและผู้ติดตาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอีก 148 คน “ยังติดอยู่ภายในนั้น” พร้อมเรียกร้องให้มีการเข้าถึงโรงพยาบาลนี้และการหยุดยิงโดยทันทีด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม หลังจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดังกล่าวรายงานว่ามีการโจมตีโดยพลปืนซุ่มยิงบนอาคารในวันจันทร์ และมีการยิงจรวดโจมตีชั้น 5 ซึ่งเป็นส่วนสำนักงานของโรงพยาบาล แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ
นับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาส ปะทุขึ้นเมื่อ 7 ตุลาคม ที่ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลคร่า 1,200 ชีวิต และจับตัวประกัน 250 ราย ฝั่งอิสราเอลโต้กลับด้วยปฏิบัติการทหารที่คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์กว่า 35,000 คน อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขกาซ่า
- มีเนื้อหาบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์