Your browser doesn’t support HTML5
นายจิอานนี่ อินฟานทีโน่ (Gianni Infantino) ประธานฟีฟ่า กล่าวถึงคำสัญญาของอิหร่านเรื่องให้ผู้หญิงชมกีฬาฟุตบอล ในที่ประชุมเกี่ยวกับความเท่าเทียมในซูริค สวิตเวอร์เเลนด์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังจากที่ตัวเขาเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเข้าชมการเเข่งขันเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้บรรดานักเรียกร้องสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์
นายอินฟานทีโน่ ซึ่งยังได้เข้าพบกับบรรดาผู้นำของอิหร่าน รวมทั้ง ประธานาธิบดี ฮัสซัน โรฮานี่ (Hassan Rouhani) ในเมืองหลวงของอิหร่าน กล่าวว่า ตนได้รับคำมั่นสัญญาว่าอีกไม่นาน ผู้หญิงชาวอิหร่านจะได้รับอนุญาตให้เข้าชมการเเข่งขันฟุตบอล ที่ปกติผู้ชมชายเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตเข้าชม
อย่างไรก็ตาม นายอินฟานทีโน่ ไม่เจาะจงว่าใครเป็นคนให้คำสัญญาดังกล่าว
อิหร่านได้สั่งห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้าชมการแข่งขันกีฬาชายบางประเภทรวมทั้งการเเข่งขันฟุตบอลชาย มาตั้งเเต่หลังการปฏิรูปอิสลามในปี ค.ศ. 1979 หรือเมื่อราว 39 ปีที่แล้ว
บรรดาสื่อมวลชนของรัฐบาลอิหร่านรายงานว่า ตำรวจได้จับกุมผู้หญิง 35 คน ขณะพยายามเข้าไปภายในที่สนามฟุตบอล อะซาดี สเตเดียม (Azadi Stadium) ในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เพื่อชมการเเข่งขันฟุตบอลชายระหว่างทีมสโมสรฟุตท้องถิ่นสองสโมสร
ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาเปอร์เซีย ดาร์ยา ซาไฟ (Darya Safai) นักรณรงค์ด้านสิทธิ์ชาวอิหร่าน ที่อาศัยในกรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า ผู้หญิงอิหร่านได้พยายามเข้าไปชมการเเข่งขันกีฬาชายในประเทศมาเป็นเวลานานหลายปีเเล้ว บางครั้งต้องสวมเสื้อผ้าให้เหมือนผู้ชาย
ซาไฟ เป็นผู้ริเริ่มการรณรงค์ให้ผู้หญิงอิหร่านมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกับผู้ชายในการเข้าชมการเเข่งขันกีฬาชายในสนามกีฬาจริงๆ โดยการรณรงค์นี้เรียกว่า "Let Iranian women enter their stadiums."
ซาไฟ กล่าวว่า กลุ่มผู้หญิงที่ถูกจับกุมที่สนามฟุตบอล อะซาดี สเตเดียม (Azadi Stadium) พยายามเข้าไปชมการเเข่งขันฟุตบอลกับสมาชิกชายในครอบครัว ซึ่งเป็นสิทธิ์สตรีที่ผู้หญิงเคยมีก่อนหน้าการปฏิรูปอิสลาม เธอกล่าวว่า ตนเองหวังว่าผู้ชายชาวอิหร่านจะสนับสนุนผู้หญิงอิหร่านในการเรียกร้องให้ได้สิทธิ์นี้กลับคืนมา
ผู้หญิงชาวอิหร่านได้รับอนุญาตให้เข้าชมการเเข่งขันกีฬาชายหลายประเภท อาทิ ได้เข้าชมการเเข่งขัน FIBA เบสบอลเวิร์ลคัพปี 2019 รอบคัดเลือกชาติเอเชีย (FIBA Basketball World Cup 2019 Asian Qualifier) ระหว่างทีมเบสบอลชายแห่งชาติอิหร่านกับทีมชาติอิรัก ที่สนามกีฬาภายในอะซาดี ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับสนามฟุตบอลอะซาดี เเต่ผู้หญิงต้องนั่งชมในที่นั่งส่วนที่แยกต่างหากจากที่นั่งของผู้ชมชาย
อยาตุลเลาะห์ นาเซอร์ มัคคาเร็ม ชีราซซิ (Ayatollah Naser Makarem Shirazi) ผู้นำศาสนาชาวอิหร่านคนสำคัญคนหนึ่ง เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่สนับสนุนเสียงเเข็งที่สุดต่อข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าชมการเเข่งขันกีฬาในสะเตเดียม โดยหน้าเว็บไซท์ข่าวอิหร่านไวร์ (IranWire) รายงานเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ถึงคำกล่าวของเขาที่มีต่อนักศึกษาระหว่างการปาฐกถาว่า การให้ผู้หญิงเข้าไปชมการเเข่งขันกีฬาในสเตเดียมจะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ละเมิดต่อความมีศีลธรรมจรรยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในรายการทอล์คโชว์ Straight Talk ของ วอยซ์ ออฟ อเมริกา ภาคภาษาเปอร์เซีย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ชายชาวอิหร่านคนหนึ่งกล่าวกับทางรายการผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากอิหร่านว่า หากผู้หญิงเข้าชมการเเข่งขันฟุตบอลในสเตเดียม ศักดิ์ศรีของผู้หญิงจะถูกละเมิดเพราะจะมีผู้ชายตะโกนด่าด้วยภาษาที่หยาบคาย เเละเเสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้หญิง
เเต่มีผู้ชายอิหร่านหลายคนที่โทรศัพท์เข้าไปเเสดงความคิดเห็นในรายการ ได้เรียกร้องให้ยกเลิกข้อห้ามนี้ โดยเสนอว่าผู้ชายควรยืนกรานที่จะเข้าขมการเเข่งขันฟุตบอลพร้อมกับภรรยาหรือลูกสาว หรือไม่ก็เลิกซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขันเสียเลยเพื่อประท้วง
ผู้หญิงชาวอิหร่านคนหนึ่งที่โทรศัพท์เข้าไปแสดงความคิดเห็น กล่าวว่าเธอมองเห็นความขัดเเย้งในชื่อของ อะซาดี สเตเดียม ที่มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า “อิสรภาพ"
เธอกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ประชากรครึ่งหนึ่งของอิหร่านถูกห้ามไม่ให้เข้าชมการเเข่งขันกีฬาในสเตเดียมที่ชื่อมีความหมายว่าอิสรภาพนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)