บทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเกี่ยวกับรัฐประหาร

Your browser doesn’t support HTML5

เปิดใจ คริสตี้ เคนนี่ (Kristie Kenney) เอกอัครราชทูตสหรัฐ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร

นาย Steve Herman ผู้สื่อข่าวของ Voice of America ในกรุงเทพมหานครได้สัมภาษณ์นาง Kristie Kenney เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องรัฐประหารในประเทศไทย และ VOA ภาคภาษาไทยได้ถ่ายทอดบันทึกคำถามและคำตอบในการสัมภาษณ์มาเสนอดังต่อไปนี้

คำถาม “ได้มีการแจ้งให้ทราบก่อนการเกิดรัฐประหารหรือไม่ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความประหลาดใจ”

คำตอบ “ดิฉันคิดว่า เราทุกคนประหลาดใจนิดหน่อย ไม่ใช่ความลับที่ประเทศไทยประสบความยุ่งยาก สลับซับซ้อนมาเป็นเวลาหลายเดือน คงจำได้ว่า มีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อสองวันที่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็มีสัญญาณบ่งบอกว่าสิ่งต่างๆไม่ปกติ แต่จริงๆแล้ว ก่อนจะมีประกาศออกมา ทุกฝ่ายก็พบปะหารือกันอยู่ ซึ่งดิฉันคิดว่า หลายคนคิดว่า เป็นโอกาสดียิ่งสำหรับการเจรจากันอย่างจริงจังที่เรารอคอยมาเป็นเวลานาน”

คำถาม “นับตั้งแต่รัฐประหาร ท่านทูตได้พบกับใครจากทางการทหาร หรือจากรัฐบาลรักษาการณ์หรือไม่”

คำตอบ “เราก็มีการติดต่อในหลายระดับเป็นปกติวิสัย แต่ดิฉันคิดว่า บางทีการติดต่อที่สำคัญที่สุด คือถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ นักการทูตอาวุโสของเราในกรุงวอชิงตัน ซึ่งกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อความหรือถ้อยแถลงสาธารณะของสหรัฐเป็นอย่างเดียวกันกับข้อความที่ไม่เป็นสาธารณะ”

คำถาม “มีการคาดเดาว่า สมาชิกของรัฐบาลรักษาการณ์ เข้ามาหลบภัยอยู่ในสถานทูตสหรัฐ มีความจริงหรือไม่ในเรื่องนี้”

คำตอบ “ไม่มีความจริง แต่ดิฉันคิดว่า ข่าวลือลักษณะนี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อไม่มีสื่อเสรีหรือเปิดเผย เป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐมนตรี Kerry ยกมาพูดถึง รัฐมนตรี Kerry ได้พูดถึงความสำคัญของเสรีภาพของสื่อซึ่งถูกจำกัด คุณกับดิฉันกำลังสนทนากัน ซึ่งประชาชนไทยไม่สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้นก็ก่อให้เกิดข่าวลือ เพราะไม่มีแหล่งข่าว เช่น โทรทัศน์ วิทยุ การแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นอันตรายในสังคม”

คำถาม “สหรัฐและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1883 และมองกันว่า ประเทศไทยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเชื่อมโยงกันมานานทางการทหาร แต่ตั้งแต่ค.ศ. 2001 เราได้เห็นการเลือกตั้ง 4 ครั้ง นายกรัฐมนตรี 3 คนถูกปลด และรัฐประหาร 2 ครั้ง สหรัฐมีบทบาทอย่างไร หรือไม่ ในการช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทย

คำตอบ “เป็นคำถามที่สำคัญ แต่ละประเทศกำหนดเส้นทางของตนเอง และก็แน่นอนที่ชาวไทยจะกำหนดเส้นทางของตนเอง แต่ในฐานะมิตรประเทศ ในฐานะประเทศที่ร่วมงานกับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ในทุกด้าน ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง เราทำงานมาด้วยกันในการวิจัยด้านสุขภาพ การปกป้องคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่า หลายต่อหลายเรื่อง ฉะนั้น ดิฉันคิดว่าเรามีบทบาทสำคัญ ซึ่งไม่เพียงแต่จะแสดงความคิดเห็นของเราเท่านั้น แต่ในการช่วยให้ประเทศไทยคิดในประเด็นที่มีความสำคัญด้วย

แน่นอนที่ชาวไทยจะต้องกำหนดเส้นทางของตนเอง แต่อย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐพูดไว้ เราขอเรียกร้องให้กลับไปสู่รัฐบาลพลเรือนในทันที ยกเลิกการจำกัดสื่อ เคารพในสิทธิมนุษยชนและเส้นทางไปสู่การเลือกตั้ง

คำถาม “ท่านทูตพูดถึงความร่วมมือหลายด้านระหว่างสหรัฐกับประเทศไทย จะมีปัญหากระทบถึงความร่วมมือเหล่านั้น โดยเฉพาะทางการทหารอย่างไรบ้าง”

คำตอบ “ดิฉันคิดว่า รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพูดไว้ดีที่สุด เรามีความสัมพันธ์กันมายาวนาน แต่รัฐประหารในประเทศไทยจะมีผลในเชิงลบ รัฐบาลสหรัฐจะทบทวนในระดับสูงถึงเรื่องความช่วยเหลือและการติดต่อกับประเทศไทย โดยเฉพาะทางการทหาร จะมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนระมัดระวัง และดิฉันคิดว่า เราจะได้รับทราบมากขึ้น เมื่อผู้นำอาวุโสของรัฐบาลสหรัฐพิจารณาและตัดสินใจว่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร”

คำถาม “เพราะฉะนั้น จากจุดยืนในฐานะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยก้าวต่อไปคืออะไร”

คำตอบ “ความห่วงกังวลแรกของดิฉัน และก็เป็นเรื่องแรกเสมอ คือความปลอดภัยและความมั่นคงของพลเมืองอเมริกัน เรากระจายข้อความให้คนอเมริกันรับทราบอย่างรวดเร็วหลังมีรัฐประหาร แนะนำให้เขาได้ทราบเรื่องการจำกัดเวลาออกนอกบ้าน หรือเคอร์ฟิว และให้ใช้ความระมัดระวัง ทีมงานของสถานทูตและดิฉันจะติดตามสถานการณ์เพื่อจะได้ให้ข้อมูลแก่คนอเมริกัน เราติดต่อกับคนอเมริกันทั่วประเทศไทย สถานการณ์เวลานี้สงบ แต่ก้าวที่สำคัญต่อไปเกิดขึ้นในกรุงวอชิงตัน ซึ่งก็คือการทบทวนเรื่องความช่วยเหลือและการติดต่อระหว่างกัน”