สัมภาษณ์พิเศษ: 'เยาวชนปลดแอก'-'ไทยภักดี' สองขั้วคู่ขนานบนเส้นทางการเมืองไทย 

เกียรติวงศ์ สงบ (ซ้าย) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี และ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี (ขวา) เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก

หลังจากที่เยาวชน คนหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษา หลากหลายกลุ่มและสังกัด ได้ออกมาจัดการชุมนุมบนท้องถนน โดยมีข้อเรียกร้องหลักเพื่อให้ยุติการคุกคามประชาชน ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตลอดจนการชูประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ก็ทำให้กลุ่ม “ไทยภักดี” ที่ประกาศตัวปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ออกมาเคลื่อนไหวในแนวเส้นขนานไปพร้อม ๆ กัน

วีโอเอไทยได้สัมภาษณ์พิเศษ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอกและประชาชนปลดแอก และเกียรติวงศ์ สงบ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี ก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ ที่ครั้งนี้นำโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 14 ปีของการทำรัฐประหารปี พ.ศ.2549

ชุมนุม กปปส. สู่ จุดร่วม-จุดต่างทางการเมือง

ความสนใจในการเมืองของสองหนุ่มต่างขั้วอย่าง ทัตเทพ เรืองประไพกิจ และ เกียรติวงศ์ สงบ เริ่มต้นขึ้นจากเหตุการณ์เดียวกัน คือการชุมุนุมของกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในช่วงปี พ.ศ.2556-2557 ในช่วงเวลาที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

Anti-government protest leader Suthep Thaugsuban waves to his supporters as he leads a march in central Bangkok May 8, 2014.

การต้องไปโรงเรียนติวที่สยามสแควร์เพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้ ทัตเทพ หรือ ฟอร์ด ต้องเจอกับผู้ชุมนุมของ กปปส. ที่ปิดกั้นทางเข้า และขอค้นตัว ทำให้เขาเกิดความหงุดหงิด จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการชุมนุมประท้วงของผู้ชุมุนม กปปส. อันเริ่มมาจากความไม่พอใจร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่หลายคนเชื่อว่าจะนำไปสู่การล้างผิดให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะกลายเป็นการเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ในเวลาต่อมา

“ตอนนั้นมันหลัง พรบ.นิรโทษกรรมแล้ว มันเป็นการยกระดับเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง (หลังมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 และประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. 2557) ตอนนั้นสภาก็ไม่มี รัฐบาลก็รักษาการจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไง จริงมั้ย ก็เลยรู้จุดประสงค์แล้วว่ามันน่าจะเป็นการทำอะไรนอกระบบ หลังจากนั้นก็มีทหารทำรัฐประหารตามมา มีการปราบปราม ผมก็เลยสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น สนใจศึกษา อ่านค้นคว้า แล้วมันสนุกดี ดันชอบ”

เกียรติวงศ์ สงบ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี องค์กรกลางที่รวบรวมประชาชนผู้ภักดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ในอีกด้านหนึ่ง การเคลื่อนไหวของ กปปส. คือห้องเรียนการเมืองชั้นดีของเกียรติวงศ์ หรือ ลี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งฝั่งธนบุรี ที่สนใจติดตามผลกระทบของนโยบายจำนำข้าว และร่างพรบ.นิรโทษกรรม มาโดยตลอด

“มีการออก พรบ. นิรโทษกรรม จะล้างโทษคนผิด ผมไม่ชอบ ผิดก็ต้องรับผิด ก็เห็นอยู่ว่านายกยิ่งลักษณ์ทำเพื่อใคร เอื้อประโยชน์ให้กับใคร ผมก็เข้าร่วมม็อบ กปปส. อย่างจริง ๆ จัง ๆ พาเพื่อนนักเรียนไป จนโดนรักษาการ ผอ. เรียกเข้าไปคุย จะพักการเรียน ผมได้ใบจบช้ากว่าเพื่อนเลย ใส่ชุดนักเรียนไปม็อบ จนกระทั่งเรียนจบก็ยังมีม็อบอยู่ก็ไปเดินกับเขา มีความผูกพัน มีความตกผลึกในบางเรื่อง”

“เยาวชนปลดแอก” จากพื้นที่ออนไลน์สู่ถนนใหญ่ใจกลางเมือง

ชีวิตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของ ทัตเทพ มีการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ไม่น้อย เขาเป็นนิสิตคนหนึ่งที่ไปรอรับ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนาในวาระครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่กลับพบว่า โจชัว หว่องถูกเจ้าหน้าที่กักตัวไว้และไม่อนุญาตให้เข้าไทย

“เราก็รู้สึกว่าเราถูกรัฐเผด็จการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ ทางการแสดงออก เราก็ไม่พอใจ นั่นก็คือจุดเริ่มต้นว่าทำไมเราถึงเคลื่อนไหวทางการเมือง นั่นเป็นงานแรก จากนั้นก็ยาวมาเรื่อย ๆ”

Tattep Ruangprakitseree and his partner Panumas Singprom, also a member of the commitee of Free People group, sit in a flat in Nonthaburi province, in Thailand August 22, 2020.

หลังจากที่ได้ไปฝึกงานกับพรรคอนาคตใหม่ในปี พ.ศ.2562 ทัตเทพ และแฟนหนุ่ม ภานุมาศ สิงห์พรม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth เพื่อเป็นพื้นที่ให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้มีแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตั้งแต่เรื่องการเกณฑ์ทหาร การเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยลดค่าเล่าเรียนในช่วงโควิด-19 การเสียดสีการเมือง รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ

จนในที่สุด ตัดสินใจร่วมกับ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 กรกฎาคม

A protester holds a sign depicting Thai Prime Minister Prayuth Chan-Ocha during a protest demanding the resignation of the government.

“การชุมุนมวันที่ 18 กรกฏาคม มันมาจากสองสาเหตุ หนึ่งแรงสะสมการกดทับทางการเมือง เศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หกปี มันสะสมมาเรื่อย ๆ ประเด็นที่สองเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 รัฐบาลไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง ล็อคดาวน์ทำให้ขาดเงินขาดงาน เดือดร้อนกันหมด เพื่อต้องการให้โควิด-19 มันผ่านไป แต่ดันปล่อยให้แขกวีไอพีมีเคสโควิดที่ระยอง (กรณีที่ทางการอนุญาตให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเข้าประเทศโดยไม่ต้องทำตามมาตรการกักกันโรค ทำให้มีทหารอียิปต์ที่ จ.ระยอง และสมาชิกครอบครัวทูตซูดานในกรุงเทพฯ ติดเชื้อโควิด-19 และเดินทางไปในที่สาธารณะ) มันหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนไม่พอใจมาก พอกระแสมา โมเมนตัมมา แฟนผมบอกว่ามันต้องชุมนุมนะ เพราะการชุมนุมวันนั้น จึงทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

หนึ่งความฝัน สิบข้อเสนอ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่ในขณะที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกบอกว่าพวกเขา “ฝัน” ที่จะเห็น “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ให้ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคกัน เกียรติวงศ์ กลับมองว่า “1 ความฝัน” นั้น ผนวกกับข้อเสนอ 10 ประการของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นข้อเสนอที่อาจเอื้อมและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

“ตอนแรกม็อบเขาออกมาผมก็เฉยนะ มีการแฟลช ม็อบ (flash mob) ตามโรงเรียน ผมก็เฉย ๆ เพราะว่ามันก็ดี เป็นเรื่องประชาธิปไตย ก็สนุกสนานดี แต่พอชูเรื่องสถาบันปุ๊บ เราต้องเปิดตัวแล้วล่ะว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ใช่มีแค่ฝั่งเขาฝั่งเดียว ฝั่งเราก็มี”

นักศึกษาชั้นปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้ติดต่อไปหาหมอวรงค์ ซึ่งเขาบอกว่าไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่เป็น “แฟนคลับ” มาตั้งแต่อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์จากพิษณุโลก เปิดอภิปรายเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเห็นว่ามีอุดมการณ์ชัดเจนในเรื่องการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

A person holds a picture of Thai King Maha Vajiralongkorn with Queen Suthida as members of Thai right-wing group "Thai Pakdee" (Loyal Thai) attend a rally in Bangkok, Thailand August 30, 2020. REUTERS/Jorge Silva

ด้านทัตเทพ มองว่า หลังจากที่เกิดการปฏิวัติสยามโดยคณะราษฎร ปี พ.ศ 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เป็นหนึ่งในสมการทางการเมืองมาตลอด และสร้างผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงควรจะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยถึงขอบเขตของสถาบันและประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดเผย

“เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่แทบจะไม่ถูกพูดถึง แทบจะไม่ถูกแตะต้อง แทบจะไม่ถูกปฏิรูปเลยในรูปแบบการเมืองปกติ คือในสภา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่เคยมีว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีการถือครองทรัพย์สินมากขนาดนี้ ถือครองกำลังพล ทหารหลายกองพัน ไม่เคยมีมาก่อน มันถูกกดว่าไม่ให้พูดนะ ถ้าพูดถึงว่าล้มเจ้า จาบจ้วง ไม่รักชาติ”

“ไม่ว่าจะทีมไหน กลุ่มไหนจัด ไม่มีข้อเรียกร้องไหนที่บอกว่าไม่เอาสถาบันกษัตริย์ ไม่มีข้อไหนที่บอกว่าต้องกำจัดสถาบันกษัตริย์ออกไป มีแต่บอกว่าให้สถาบันกษัตริย์สอดคล้องกับประชาธิปไตย อยู่เหนือการเมือง อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”

Tattep Ruangprapaikit, a political science student and LGBTQ activist who is leading the Free People group, speaks during a rally in Bangkok, Thailand, August 16, 2020. Picture taken August 16, 2020. REUTERS/Athit Perawongmetha

เกียรติวงศ์ แย้งมาตลอดว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือกลุ่มอื่น ๆ มุ่งริดรอนพระราชอำนาจ และสร้างความบาดหมางในสังคมไทยที่เขามองว่าเป็นสังคมที่สงบสุข ด้วยวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ

“คำพูดของฟอร์ด ที่ว่าต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เพื่อธำรงไว้เพื่อความสง่าสถาพร ผมมองว่าคำพูดกับการกระทำมันสวนทางกัน คล้ายกับการที่เราพยายามจะบอกว่า พี่ครับผมกำลังเชิดชูพี่อยู่โดยการถ่มน้ำลายใส่พี่ พี่ว่ามันใช่มั้ยล่ะครับ ที่เขาพูดว่าให้ดูตัอย่างญี่ปุ่น อังกฤษ (ประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์) เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้น ทำไมต้องไปดูวัฒนธรรมต่างชาติแล้วมาปรับใช้ การคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ผมมองว่าก็ไม่ได้เสียหายอะไร เราไม่ได้ถูกริดรอนสิทธิอะไร”

“ผมเรียกว่าเป็นความอคติส่วนตัว เอามาจุดประเด็น โดยใช้คำว่าประชาธิปไตยมาชี้นำ แต่คำว่าประชาธิปไตยนี้กลวงมากครับ”

การ “ตื่น” ของเยาวชนไทย และแรงหนุนจากโลกโซเชียลไร้ขอบเขต

ทัตเทพ มองว่าเยาวชน คนหนุ่มสาว มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง

“ปรากฎการณ์พรรคอนาคตใหม่ทำให้คนสนใจการเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากตรงนั้น บวกกับสภาวะเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ สังคมอำนาจนิยม รวมกันในมือกลุ่มคนเดียว มันส่งผลให้คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตของพวกเขาเมื่อมีสิ่งเหล่านี้กดทับ ทำให้มองไม่เห็นว่าอีก 5-10 ปีจะไปทำงานอะไร จะไปอยู่ตรงไหน”

การเข้าถึงของข้อมูลที่เปิดกว้างขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้เกิดการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร “นอกระบบ” ที่ไม่มีสอนในโรงเรียนมากขึ้น

“หลักสูตรการศึกษาว่า รัฐบาล หนังสือประวัติศาสตร์ที่ออกโดยกระทรวงศึกษา มันผูกขาดชุดความจริง ทำให้ประวัติศาสตร์การเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นด้านเดียว พอพวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น มีโซเชียลมีเดียเข้ามา มีของ อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) อาจารย์ปวิน (ชัชวาลพงศ์พันธ์) พอได้อ่านพวกนี้ พวกเขาก็ไปค้นต่อ มันไม่ได้จบแค่นั้น อ่านแล้วได้รับอะไร เขารู้สึกว่าประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนในโรงเรียนมันหลอกเขา หลอกให้เขาต้องเชื่อในสิ่งที่จริงหรือไม่จริงไม่รู้”

Anti-government protesters and students welcome Thailand's Education Minister Nataphol Teepsuwan with a three-fingers salute during a demonstration in Bangkok, Thailand September 5, 2020.

แต่ความตื่นตัวดังกล่าว ทำให้เกียรติวงศ์จับตามองด้วยความสงสัย ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางใดกันแน่ เพราะสิ่งที่เขาเห็น คือการหลั่งไหลเข้ามาของข้อมูลข่าวสารที่เขามองว่า “เป็นเท็จ” และ “บิดเบือน” จากกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักวิชาการที่อยู่ต่างประเทศ ส่วนโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งแต่จะทำให้คนรุ่นใหม่เกิดอาการอยากได้ใคร่มี

“คนไทยเปลี่ยนไป อยากได้อยากมี ต้องถามว่าหัวใจประชาธิปไตยคืออะไร เรียกร้องเพื่อตัวเอง หรือเรียกร้องเพื่อคนอื่น ออกไปม็อบ เรียกร้องให้ตัวเองทั้งนั้น ให้ไว้ผมยาว ให้ใส่ชุดอะไรก็ได้ ไม่เห็นมีใครเรียกร้องให้คนอื่นเลย คนอยากได้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งก็มีอยู่แล้ว แต่อยากได้มากขึ้น อยากให้กฎหมายมีข้อจำกัดน้อยลง ผมมองว่าสังคมใดเป็นแบบนั้นสังคมนั้นจะวิบัติ”

สองขั้วที่ไม่มีใครถอย

เกียรติวงศ์ ย้ำว่ากลุ่มไทยภักดีไม่มีแผนที่จะใช้ “ม็อบชนม็อบ” แต่จะใช้ ความเป็นจริงสู้กับความเท็จ ผ่านการเคลื่อนไหวออนไลน์และการพบปะพูดคุยกับประชาชนในต่างจังหวัดเพื่อปลุกใจให้คนรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มากขึ้น ทั้งนี้ ชายหนุ่มวัย 24 จากจังหวัดตราด ยังยืนยันด้วยว่ารัฐบาลทำผลงานได้ดีในการควบคุมโควิด-19 ไม่ควรยุบสภาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ผมอยากให้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อไปให้ครบวาระ ถ้ามาเปลี่ยนมือรัฐบาลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินัก ผมว่าจะยิ่งแย่ไปกว่านี้”

เกียรติวงศ์ สงบ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี องค์กรกลางที่รวบรวมประชาชนผู้ภักดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ในขณะที่ ทัตเทพ ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนจะดำเนินต่อไป ถึงแม้ว่ารัฐจะพยายามใช้ข้อกล่าวหา และการจับกุม เพื่อถ่วงเวลาหรือสกัดกั้นกิจกรรมของพวกเขาก็ตาม

“คือผมว่ายังไงก็แล้วแต่การเปลี่ยนแปลงมันต้องมาแน่นอน ฉากจบจะจบด้วยการที่รัฐยอมถอยให้กับข้อเรียกร้องของเรา หรือจะจบด้วยความรุนแรง เพราะเราไม่หยุดชุมนุมแน่นอน ถึงแม้ผมจะหยุด สมมติผมไม่นำชุมนุมละ ก็มีคนชุมนุมต่อมีคนทำต่ออยู่ดี ”

ก่อนจบการสนทนา เกียรติวงศ์บอกกับวีโอเอไทยว่า หากไม่มีเหตุให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาก็อาจจะเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมาย หรืองานที่ได้ช่วยเหลือคน แต่ ณ จุดนี้ เขาต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อน

“ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมา พระมหากษัตริย์ได้เอาเลือดเนื้อแลกความเป็นไทย คงความเป็นเอกราชไว้ ผมภูมิใจ คนไหนไม่ภูมิใจผมไม่สน...ใครก็ตามที่กำลังมุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ อยากให้ลองศึกษาดูว่า เรามีรากเหง้ามีวันนี้ได้เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เกื้อหนุน”

General Secretary of Free Youth group Tattep Ruangprakitseree stands inside his house in Bangkok, Thailand August 28, 2020. Picture taken August 28, 2020. REUTERS/Jiraporn Kuhakan

ส่วนเลขาธิการเยาวชนปลดแอก และประชาปลดแอก ที่ตอนนี้มีหมายจับอยู่ 7 ข้อหา 1 คดี บอกว่าหากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไม่ได้มีสภาวะ “กดทับ” อย่างที่เป็น เขาก็คงจะเดินไปตามวิถีของบัณฑิตจบใหม่ส่วนใหญ่ คือ ทำงานหรือเรียนต่อปริญญาโท เก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถ

“ครอบครัวผมไม่มีสมบัติสักชิ้นครับ ผมก็อยากสร้างเนื้อสร้างตัว อยากมีบ้านสักหลัง มีรถขับสักคันแล้วก็สะสมทุนไปเรื่อย ๆ แล้วจะทำงานการเมืองในอนาคตก็ยังไม่สาย ผมไม่ได้อยากเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ปราศรัยบนเวทีต่อหน้าประชาชน แต่มันเป็นเพราะว่าสถานการณ์มันบีบบังคับให้เราต้องทำ ถ้าการเมืองมันดี มันเพอร์เฟคทุกอย่าง ป่านนี้ผมคงไปทำอย่างอื่นแล้ว”