ตลาดหุ้นทั่วโลกตกฮวบพร้อม ๆ กับมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลทั้งหลายในวันจันทร์ ขณะที่ ค่าเงินดอลลาร์พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ในช่วงที่ค่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับขึ้นต่อเนื่องจนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ธนาคารกลางจะยกระดับการดำเนินนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นไปอีก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันจันทร์ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะยาว 10 ปี เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนสัญญาณบ่งชี้ของสภาพเศรษฐกิจถดถอย
การที่นักลงทุนแห่เทขายพันธบัตรทั่วโลกเกิดขึ้นหลังรายงานล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับขึ้นสูงเกินคาด ซึ่งกระทบนักลงทุนถ้วนหน้า และสลายความคาดหวังว่า รัฐบาลเริ่มจะสามารถควบคุมการปรับขึ้นของราคาสินค้าได้แล้ว
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงส่งผลด้านจิตวิทยาอย่างหนักต่อนักลงทุน และทำให้ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วโลกหดตัวจนถึงระดับต่ำสุดของปี ทั้งยังทำให้หลายฝ่ายคาดว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นถึงระดับสูงสุดที่ราว 4%ในปีหน้า จากระดับไม่ถึง 3% ที่มีการประกาศออกมาเมื่อไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อน
สิ่งที่นักลงทุนทั้งหลายพยายามเก็งหาคำตอบกันอยู่ก็คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และประเทศขนาดใหญ่ทั้งหลายจะปรับขึ้นไปถึงระดับสูงเพียงใดในที่สุด
SEE ALSO: 'เฟด' ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.5% สูงสุดรอบ 22 ปีความกังวลในประเด็นนี้ทำให้ดัชนีดาวน์โจนส์ (Dow Jones) ดิ่งลงถึง 876 จุด หรือ 2.79% มาปิดในวันจันทร์ที่ 30,516 จุด ขณะที่ แนสแด็ก (Nasdaq) ร่วง 530 จุด หรือ 4.68% มาจบวันที่ 10,809 จุด ส่วน เอสแอนด์พี (S&P) ปิดลดลง 151 จุด หรือ 3.8% ที่ 3,749 จุด
นอกจากนั้น หุ้นในยุโรปร่วงหนักถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนในวันจันทร์เช่นกัน โดยดัชนี ยูโร สต็อกซ์ (euro STOXX) ซึ่งเป็นเหมือนตัวชี้วัดระดับความกลัวของนักลงทุนปรับขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบเดือนแล้ว และตลาดหลักทรัพย์หลัก ๆ ในยุโรป ซึ่งรวมถึงเนเธอร์แลนด์ หดตัวหนักถึงกว่า 20% จากระดับสูงสุดของการปิดตลาดเมื่อเร็ว ๆ นี้
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงที่ ยังไม่มีสัญญาณว่า ภาวะเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงเมื่อไหร่ และเกิดกระแสความกังวลว่า การที่รัฐบาลจีนสั่งทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นวงกว้าง จะนำมาซึ่งการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกติดขัดหนักขึ้นไปอีก นักลงทุนทั้งหลายจึงตัดสินใจเร่งเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงออกจนหมดหน้าตักแล้ว
ในส่วนของค่าเงินดอลลาร์นั้น มีการปรับขึ้นไปถึงระดับใกล้จุดสูงสุดที่ 135.22 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บันทึกได้เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1988 โดยปัจจัยส่งนั้นก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับขึ้นต่อเนื่องในการซื้อขายที่กรุงโตเกียว ขณะที่ เงินสกุลปอนด์อ่อนค่าลงกว่า 1% หลังรายงานของรัฐบาลระบุว่า เศรษฐกิจของอังกฤษหดตัวผิดคาดในเดือนเมษายน
-
ที่มา: รอยเตอร์