อินโดนีเซียประกาศเตือนภัยสูงสุด-อพยพประชาชน หลังภูเขาไฟปะทุรุนแรง

ภาพจากหน่วยงานกู้ภัยอินโดนีเซียเมื่อ 18 เม.ย. 2567 แสดงให้เห็นผู้คนในจังหวัดสุลาเวสีเหนือ ขณะเฝ้ามองภูเขาไฟรวง ที่พ่นเถ้าถ่านออกมามากมายหลังเกิดการปะทุ

อินโดนีเซียสั่งปิดสนามบินท้องถิ่นแห่งหนึ่งพร้อม ๆ กับดำเนินการอพยพประชาชนหลายร้อยคนที่อาศัยอยู่ไม่ไกลจากภูเขาไฟ ‘รวง’ ที่ระเบิดและพ่นลาวา หินและเถ้าออกมา โดยเจ้าหน้าที่ยังได้ประกาศการระวังภัยขั้นสูงสุดในวันพฤหัสบดีด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

การปะทุอย่างรุนแรงเมื่อวันพุธของภูเขาไฟลูกนี้ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะห่างไกลผู้คนในจังหวัดสุลาเวสีเหนือ เกิดขึ้นพร้อมกับการปล่อยลาวา หินและเถ้าร้อนที่พุ่งขึ้นฟ้าเป็นระยะทางถึง 3 กิโลเมตรเลยเดียว

ภาพลาวาร้อนพุ่งออกมาจากภูเขาไฟ 'รวง' ในจังหวัดสุลาเวสีเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย ที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 (Antara Foto/HO/BPBD Kab Sitaro/via REUTERS)

คลิปที่มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ยังแสดงให้เห็นภาพฟ้าแลบสีม่วงทั่วท้องฟ้าเหนือภูเขาไฟที่ปะทุขึ้นมานี้ด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ประชาชนกว่า 800 คนถูกอพยพออกจากพื้นที่แล้ว โดยทางการได้สั่งขยายพื้นที่อพยพให้กว้างขึ้นหลังหน่วยงานด้านวิทยาภูเขาไฟยกระดับการเตือนภัยเหตุภัยพิบัตินี้ขึ้น

เจ้าหน้าที่หน่วยงานดังกล่าวบอกกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดีว่า โอกาสของการปะทุหนักขึ้นของภูเขาไฟลูกนี้ยังสูงอยู่ จึงต้องมีการระวังภัยอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่เปิดเผยด้วยว่า มีรายงานว่า หินและเถ้าถ่านที่ภูเขาไฟพ่นออกมาได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนหลายหลัง ทั้งยังทำให้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงต้องทำการอพยพคนไข้และเจ้าหน้าที่ด้วย

หน่วยงานด้านการคมนาคมได้สั่งปิดสนามบินประจำจังหวัดที่เมืองมานาโดแล้ว เพื่อไม่ให้การบินและประชาชนได้รับอันตรายจากกลุ่มขี้เถ้าที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟลูกนี้

ภูเขาไฟ 'รวง' ขณะปะทุ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567

นอกจากนั้น สายการบินแอร์เอเชียยังได้ยกเลิกเที่ยวบินที่บินเข้า-ออกสนามบิน 9 แห่งในพื้นที่ตะวันออกของมาเลเซียและบรูไนด้วย หลังทางการประกาศคำเตือนความปลอดภัยจากเหตุการณ์นี้

เจ้าหน้าที่ยังได้ปิดล้อมพื้นที่ในรัศมี 6 กิโลเมตรรอบ ๆ ภูเขาไฟลูกดังกล่าว และเดินหน้าอพยพประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะตากูลันดังที่อยู่ใกล้ ๆ ด้วย ตามการเปิดเผยของกรมบรรเทาสาธารณภัยอินโดนีเซีย

อับดุล มูฮารี โฆษกของกรมฯ กล่าวเสริมด้วยว่า ต้องมีการอพยพประชาชนมากถึงราว 1,500 คนในพื้นที่ความเสี่ยงสูงในทันที ขณะที่ มีประชาชนอีกเกือบ 12,000 คนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการปะทุของภูเขาไฟ ‘รวง’

เจ้าหน้าที่ยังเตือนภัยของความเสี่ยงของคลื่นยักษ์สึนามิ หากภูเขาไฟนี้เกิดถล่มลงสู่มหาสมุทรเบื้องล่าง

เมื่อปี 1871 เกิดการปะทุของภูเขาไฟลูกนี้ที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไปราว 400 คน

  • ที่มา: รอยเตอร์