ในแต่ละปีอินโดนีเซียก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศราว 2,000 ล้านตัน นับว่าเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสามของโลก แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนอยู่ราว 10 % ของปริมาณดังกล่าว แต่ธุรกิจต่างๆ เห็นว่าการทำงานโดยไม่ยังความเสียหายหรือยังความเสียหายน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะเพียงการมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
บริษัทข้ามชาติและของอินโดนีเซียเองบางบริษัทหวังที่จะเสริมรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตส์ (carbon Credits) หรือใบอนุญาตแลกเปลี่ยนสัดส่วนการควบคุมการก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซระดับเดียวกันนี้ แต่บางบริษัทกล่าวว่า มาตรการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้มีผลประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ช่วยให้บริษัทเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามพันธกรณีในการปรับปรุงสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วย
บรรดาบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอินโดนีเซียกำลังทำงานเพื่อกักเก็บก๊าซส่วนเกินที่รั่วไหลออกมาระหว่างการผลิตและนำกลับมาใช้เป็นพลังงาน
มีโครงการพลังงานสะอาดหลายโครงการที่ทำงานโดยใช้ก๊าซชีวภาพและไฟฟ้าพลังน้ำ อย่าง บริษัท PT Indo Tirta Suaka ฟาร์มสุกรของเครือบริษัทใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย กำลังนำก๊าซเม็ธเธน ที่มาจากมูลสัตว์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า
บริษัทซีเมนท์ยักษ์ใหญ่ Indocement และ Holcim ลดการใช้ถ่านหินในเตาเผาและใช้เชื้อเพลิงจากพืชและขยะของเสียแทน
เจ้าหน้าที่ของบริษัท Holcim อธิบายว่า หน่วยงานแปรรูปพลังงานของบริษัทนี้ เก็บรวบรวมขยะของเสียจากบริษัทต่างๆ มากกว่า100 บริษัทตั้งแต่ผู้ผลิตเสื้อผ้าอาภรณ์ไปจนถึงผู้ผลิตขนมหวานทั้งหลายมาแปรรูปเป็นพลังงาน และบริษัท Holcim ลดการใช้ถ่านหินลงได้ 15 %
Vincent Aloysius ผู้จัดการหน่วยงานแปรรูปพลังงาน Geocycle ของบริษัท Holcim เสริมว่าค่าใช้จ่ายในการจัดการกับมลภาวะนั้นสูงกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะมากมาย เขายกตัวอย่าง แม่น้ำลำธารที่เน่าเสีย ป่าไม้ ชายหาด ภูเขา พื้นที่ราบกว้างระหว่างแนวเขา ที่สกปรกเป็นพิษ นอกจากจะเป็นความเสียหายร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศแล้ว ยังจะส่งผลเสียหายต่อการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลด้วย
ส่วนโครงการพลังงานแปรรูปของบริษัท Indocement นั้น ใช้เชื้อเพลิงทำจากแกลบ ขี้เลื่อย และยางรถยนตร์เก่า
ทั้งสองบริษัทนี้ ได้รับการรับรองอนุญาตให้ดำเนินงานตามขอบข่ายงานของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ
ตามข้อตกลงนี้ โครงการต่างๆ ที่ลดการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจะได้เครดิต ที่สามารถขายแก่ประเทศอุตสาหกรรมที่มีข้อผูกพันที่จะต้องบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซดังกล่าวตามพิธีสารเกียวโต แต่ยังมีปัญหาที่จะทำตามนั้นได้ทันเวลา
อินโดนีเซียมีโครงการดังกล่าวที่อยู่ในทะเบียนแล้ว 48 โครงการ ขณะที่ในจีนมีเกือบ 1,000 โครงการ และในอินเดียมีมากกว่า 500 โครงการ ซึ่งเทียบแล้วอินโดนีเซียยังล้าหลังอยู่มาก เจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาบริษัทหนึ่งกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดกฏหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดกวดขัน
Agnes Safford ผู้อำนวยการจัดการบริษัทที่ปรึกษา Green Works Asia แนะว่า ขณะที่บริษัทต่างๆ ต้องการที่จะดำเนินการตามโครงการอยู่แล้วเพราะเห็นว่า การใช้พลังงานแปรรูปช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และผู้บริโภคสนับสนุนนั้น รัฐบาลควรอนุมัติให้มีโครงการร่วมมือในการทำงานนี้ให้มากขึ้น