Your browser doesn’t support HTML5
อินโดนีเซียมีปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากปะปนกับขยะกระดาษที่นำเข้าจากต่างประเทศ สร้างความกังวลเเก่บรรดานักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมท้องถิ่นที่พยายามผลักดันให้รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาจัดการกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
Prigi Arisandi นักผลิตสารคดีชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า เขาพบขยะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารเเช่เเข็งที่อุ่นรับประทานในตู้ไมโครเวฟ อาหารสัตว์เลี้ยง ขนมกินเล่นหรือขยะจากของใช้ในบ้าน สบู่เเละน้ำยาทำความสะอาดเป็นต้น
ในฐานะผู้ก่อตั้งหน่วยงานเอกชนอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม Ecoton ในอินโดนีเซีย Arisandi ต้องการค้นหาว่าขยะพลาสติกเหล่านี้เข้ามาในอินโดนีเซียจากต่างประเทศได้อย่างไร ผ่านสารคดีที่เขาถ่ายทำนำเสนอทาง YouTube ชื่อว่า Take Back
Arisandi บอกว่าขยะพลาสติกสามารถเข้ามาในประเทศได้โดยติดมากับกระดาษใช้เเล้วนำเข้า ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่บริษัทต่างๆ ต้องการเพื่่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษ เขาได้ไปเยี่ยมดูหลุมฝังกลบขยะหลายเเห่งเเละได้ค้นดูขยะพลาสติกที่คนเก็บขยะเป็นคนนำไปทิ้ง
นักถ่ายทำสารคดีชาวอินโดนีเซียคนนี้กล่าวว่าขยะพลาสติกเหล่านี้มาจากประเทศพัฒนาเเล้ว อย่าง ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เเละเเคนาดา
Annisa Erou นักวิจัยแห่งศูนย์เพื่อกฏหมายสิ่งแวดล้อมแห่งอินโดนีเซีย (ICEL) กล่าวว่า อินโดนีเซียมีกฏระเบียบห้ามการนำเข้าขยะ เธออธิบายว่า ในกฏหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะ มีการระบุอย่างชัดเจนว่าขยะพลาสติกไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า
Erou กล่าวว่าบรรดานักพัฒนาเอกชนเเละนักรณรงค์พบขยะพาสติกส่วนมากเป็นขยะจากการบริโภคในครัวเรือน เเต่เนื่องจากขยะพลาสติกถูกส่งมาพร้อมกับขยะที่ทำจากกระดาษ จึงผ่านการตรวจสอบของศุลกากรอย่างง่ายดาย
Erou ย้ำว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกผิดกฏหมายเพิ่มมากขึ้นตั้งเเต่ที่จีนได้ยกเลิกนำเข้าขยะจำพวกกระดาษเเละพลาสติกเมื่อต้นปีที่แล้ว ทำให้ชาติที่เคยส่งออกขยะไปยังจีนต้องมองหาประเทศอื่นๆ เป็นทางเลือก รวมทั้ง อินโดนีเซีย
Siti Nurbaya Bakar รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเเละป่าไม้อินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียจะปฏิเสธขยะพลาสติกที่เข้ามายังประเทศอย่างผิดกฏหมาย เธอกล่าวในงานเเถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าทางกระทรวงมีกฏระเบียบอยู่เเล้วในเรื่องนี้เเละนำขยะไปส่งออกอีกรอบหนึ่ง
Bakar รับประกันว่า กระทรวงของเธอจะประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งกระทรวงพานิชย์ กระทรวงประสานงานด้านกิจการทางเศรษฐกิจเเละศุลกากรเพื่อจัดการกับปัญหานี้
Arisandi ยังไม่มั่นใจในคำประกาศของรัฐบาล เขาบอกว่าไม่อยากตั้งความหวังเพราะกลัวรัฐบาลกลับคำในภายหลัง เขากังวลว่าในระยะยาว ขยะพสาสติกที่เข้ามาในอินโดนีเซียอย่างผิดกฎหมายจะสร้างผลเสียต่อสิ่งเเวดล้อมของประเทศ
เขากล่าวว่า คนเก็บขยะมักจะเผาขยะพลาสติกในทุ่งโล่ง อย่างในภาพที่เขานำเสนอในสารคดี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งเเวดล้อมเเละสุขภาพคนเพราะการเผาขยะพลาสติกสร้างแก๊สพิษ
Arisandi หวังว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะออกมาจัดการเรื่องนี้อย่างรวดเร็วเหมือนกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ ที่ส่งขยะพลาสติกผิดกฏหมายกลับ
ขณะเดียวกัน Erou กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกมาจัดการอย่างรวดเร็วก็เพราะนักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมเเละนักพัฒนาเอกชนพยายามผลักดันรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างไม่ลดละมาตลอด
เธอกล่าวว่า หากชาวอินโดนีเซียสร้างแรงกดดันเเก่รัฐบาลของประเทศอย่างต่อเนื่อง เธอมั่นใจว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะออกมาดำเนินการต่อเรื่องนี้อย่างเเน่นอน