Your browser doesn’t support HTML5
เหตุวาฬที่ตายในอินโดนีเซียที่มีขยะพลาสติกปริมาณมากในท้องนี้เป็นเครื่องเตือนใจครั้งใหม่เเก่คนเราถึงอันตรายของขยะพลาสติกที่ลงไปสู่ท้องทะเล
วาฬหัวทุยตัวนี้ มีขนาดลำตัวยาว 31 ฟุตกว่า พบใกล้กับเกาะ Kapota ในเขตอุทยานแห่งชาติ Wakatobi ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสุลาเวสี
ทีมเจ้าหน้าที่ของเขตอุทยานพบถุงพลาสติก ขวดพลาสติกรองเท้าเเตะเเละแก้วพลาสติก 115 ใบในท้องของวาฬหัวทุยตัวนี้ พร้อมกับถุงที่เต็มไปด้วยเส้นเชือกมากกว่า 1,000 เส้น
ดวี สุภาพติ ผู้ประสานงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลแห่งกองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF อินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์แก่สำนักข่าว CNN ว่าเเม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายของวาฬตัวนี้ได้ เเต่การพบขยะพลาสติกปริมาณมากในท้องของวาฬตัวนี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก
ซากวาฬตัวนี้พบในจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวเเละเกิดขึ้นในช่วงที่มีความกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกที่กระทบต่อสัตว์ทะเล
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบซากวาฬหัวกลมตัวผู้ ในทางใต้ของประเทศไทยเเละพบว่าวาฬตัวดังกล่าวมีขยะพลาสติกเเละบรรจุภัณฑ์พลาสติกน้ำหนักมากกว่า 17 ปอนด์หรือเกือบ 8 กิโลกรัมในท้องและระหว่างการผ่าซากวาฬในเวลาต่อมา ทีมสัตวแพทย์พบถุงพลาสติกมากกว่า 80 ใบในท้องของวาฬตัวนี้
รายงานประจำปี ค.ศ. 2015 โดยหน่วยงานอนุรักษ์ทะเล Ocean Conservancy กับศูนย์เพื่อธุรกิจเเละสิ่งเเวดล้อม McKinsey พบว่ามากกว่า 50% ของพลาสติกที่ลงไปในมหาสมุทรมาจากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยเเละเวียดนาม เเสดงว่าวาฬทั้งสองตัวตายในน่านน้ำที่เป็นอันตรายเเก่สัตว์ทะเลเพราะเต็มไปด้วยขยะพลาสติก
รายงานชิ้นนี้ชี้ด้วยว่าการลดปริมาณขยะที่ทิ้งลงทะเลจาก 5 ชาตินี้ลงได้ 65% จะส่งผลให้สัตว์ทะเลตายน้อยลงราว 45%
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่เพิ่งออกมาไม่นานมานี้โดยรัฐบาลอังกฤษชี้ว่าหากยังไม่มีมาตรการเเก้ปัญหานี้ ปริมาณขยะพลาสติกที่ลงไปในท้องทะเลทั่วโลก จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวภายใน 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณที่บ่งบอกว่าบรรดาผู้ออกนโยบายเริ่มหันมาให้ความสนใจกับปัญหานี้บ้างเเล้ว ยกตัวอย่างในรัฐสภายุโรปที่ลงมติห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ข้อเสนอนี้ควบคุมการใช้ขยะพลาสติกประเภท หลอดดูดพลาสติก สำลีพันก้าน ช้อนและส้อมพลาสติก นอกเหนือจากการบังคับให้ชาติอียูรีไซเคิลขวดพลาสติก 90% ของทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2025
ในเดือนตุลาคม อันตรายของขยะพลาสติกได้รับการตอกย้ำอีกครั้งหลังจากพบขวดพลาสติกขวดหนึ่งที่เก่าแก่หลายสิบปีถูกน้ำทะเลพัดมาเกยที่ชายหาดแห่งหนึ่งในอังกฤษ โดยเป็นขวดสำหรับน้ำยาล้างจาน ยังมีสภาพดีอยู่เหมือนเดิมแม้มีอายุ 47 ปีเเละยังมีชื่อยี่ห้อติดอยู่อย่างชัดเจน
(เรียงเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)