ชาวอินเดียหลายล้านคนเข้าร่วมฉลองเทศกาลดิวาลีในวันอาทิตย์ โดยบันทึกกินเนสส์เวิลด์บุ๊คเรคคอร์ดส ระบุว่า จำนวนผู้มาร่วมงานในปีนี้สูงจนทำสถิติโลกครั้งใหม่แล้ว ขณะที่ แสงจากตะเกียงน้ำมันของผู้ร่วมฉลองที่ส่องสว่างไปทั่วประเทศตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงในเวลานี้
ในค่ำวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น บ้านเรือนและถนนสายต่าง ๆ ทั่วอินเดียสว่างไสวไปด้วยแสงไฟหลากสีที่ถูกจุดขึ้นมาเพื่อร่วมฉลองเทศกาลแห่งแสงซึ่งเป็นงานประจำปีของศาสนาฮินดู เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของชัยชนะเหนือความมืดมิด
จุดหลักของการจัดเทศกาลนี้ยังคงเป็นที่แม่น้ำสรัสวดี รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นที่ ๆ เทพเจ้าราม ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ได้รับความเคารพมากที่สุดในศาสนาฮินดูกำเนิดขึ้น
ตั้งแต่ช่วงค่ำวันเสาร์ ประชาชนร่วมกันจุดตะเกียงกว่า 2.2 ล้านดวงขึ้นและคอยระวังไม่ให้ดับเป็นเวลา 45 นาทีขณะที่ มีเสียงสวดในภาษาฮินดูกึกก้องไปตามแม่น้ำสายดังกล่าว โดยมีการระบุว่า จำนวนผู้มาร่วมเทศกาลในปีนี้สูงสุดทำสถิติโลกด้วย
ข้อมูลข่าวระบุว่า ในปีที่แล้วมีประชาชนเข้าร่วมจุดตะเกียงกว่า 1.5 ล้านดวงเพื่อฉลองเทศกาลนี้
หลังทำการนับตะเกียงทั้งหมดแล้ว ตัวแทนกินเนสส์บุ๊คเวิลด์เรคคอร์ดสได้มอบเกียรติบัตรให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐอุตตรประเทศเพื่อยืนยันสถิตินี้อย่างเป็นทางการ
เทศกาลดิวาลีเป็นเทศกาลสำคัญแห่งชาติของอินเดีย โดยผู้คนจะออกมาฉลองด้วยการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนของขวัญในหมู่สมาชิกครอบครัวและเพื่อน ๆ นอกจากนั้น ยังมีการจุดตะเกียงหรือเทียน รวมทั้งดอกไม้ไฟด้วย และในช่วงเย็น มีการจัดพิธีสวดพิเศษให้แก่พระแม่ลักษมีซึ่งผู้นับถือศาสนาฮินดูเชื่อว่า จะนำมาซึ่งโชคดีและความเจริญรุ่งเรืองต่อไป
อย่างไรก็ดี การจัดงานในปีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของอากาศในอินเดียที่เลวร้ายรุนแรงมากขึ้น โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ระดับ 400-500 ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย (Hazard) และสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกถึงกว่า 10 เท่า ทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง รวมทั้งอาการการหอบหืดด้วย
แต่เมื่อวันเสาร์เกิดฝนตกหนักอย่างไม่คาดฝัน รวมทั้งภาวะลมกรรโชกแรง จนทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศของอินเดียดีขึ้นและปรับมาที่ระดับ 220 ตามข้อมูลของคณะกรรมการควบคุมมลพิษของรัฐบาลกลาง
ถึงกระนั้น มีการคาดว่า มลพิษทางอากาศของอินเดียจะเลวร้ายขึ้นอีก หลังเทศกาลนี้เสร็จสิ้นลงในคืนวันอาทิตย์ อันเป็นผลมาจากการยิงพลุและดอกไม้ไฟมากมาย
- ที่มา: เอพี