เมื่อวันอังคาร การประท้วงที่ยาวนานสองเดือนของชาวนาอินเดียเพื่อต่อต้านกฎหมายด้านการเกษตรฉบับใหม่กลายเป็นความโกลาหล เมื่อผู้ประท้วงหลายพันคนฝ่าด่านตำรวจและขี่รถไถบุกเข้าป้อมแดง แหล่งมรดกโลกใจกลางกรุงนิวเดลี
ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูง และใช้กระบอง เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกนอกเส้นทางที่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมตั้งแต่แรก ชาวนากลุ่มหนึ่งปีนขึ้นป้อมแดง โบกธงสหภาพชาวนาและธงศาสนา ห้อยธงของสหภาพลงมาคู่กับธงชาติอินเดีย ชาวนาอีกส่วนหนึ่งมุ่งหน้าเข้าใจกลางกรุงนิวเดลี ย่านที่ทำการของหน่วยงานรัฐบาล บุกทลายแผงกันของตำรวจและตะโกนต่อว่านายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย
มีรายงานผู้ประท้วงอย่างน้อยหนึ่งคนเสียชีวิต โดยตำรวจระบุว่าเขาเสียชีวิตจากการที่รถไถของเขาพลิกคว่ำ ขณะเดียวกัน มีนายตำรวจหลายนายได้รับบาดเจ็บ รถเมล์และรถตำรวจถูกผู้ประท้วงขว้างปาหินใส่จนเสียหาย
เหตุรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นในวันชาติอินเดีย (26 มกราคม) ซึ่งมีการเดินขบวนพาเหรดของกองทัพเพื่อฉลองวันครบรอบที่อินเดียประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นหลังการเดินขบวนพาเหรดเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงชาวนาหลายหมื่นคนได้ตั้งค่ายประท้วงนอกเมืองหลวงมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมาย 3 ฉบับ ที่รัฐบาลระบุว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปภาคการเกษตร แต่บรรดาชาวนากลับเห็นว่ากฎหมายนี้จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา
กลุ่มผู้ประท้วงชาวนาตั้งค่าย รวมถึงนำรถไถ รถบรรทุก จอดปิดทางหลวงที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงนิวเดลี โดยตั้งเป้าหมายว่าจะไม่เลิกประท้วงจนกว่าจะมีการยกเลิกกฎหมาย โดยที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ากรุงนิวเดลี แต่ตำรวจอนุญาตให้พวกเขาขับรถไถไปตามชานเมืองได้ หลังหวัหน้าสหภาพชาวนารับปากว่า การประท้วงจะเป็นไปอย่างสันติ
หลังเกิดเหตุรุนแรงขึ้น บรรดาผู้นำชาวนาระบุว่า กลุ่มผู้ประท้วงที่ฝ่ากำแพงตำรวจออกไป ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ประท้วงส่วนใหญ่ บางช่วงกลุ่มผู้ประท้วงมีจำนวนมากกว่าตำรวจอย่างมาก และยังคุงมุ่งหน้าฝ่าสิ่งกีดขวางตามถนนต่อไปโดยไม่ฟังคำขอของผู้นำการประท้วงที่เขาให้พวกเขาถอยหลังกลับ โดยระบุว่า หากผู้ประท้วงไม่สามารถชุมนุมอย่างสันติได้ การประท้วงอาจล้มเหลว
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลและชาวนาได้เจรจากันหลายรอบแล้วแต่ล้มเหลว โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำสหภาพชาวนาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของรัฐบาล ที่เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปมากที่สุด 18 เดือน
ทางกลุ่มชาวนาระบุว่า กฎหมายทั้งสามฉบับนี้เปิดทางให้มีการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแก่บริษัทเอกชน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อรายได้ของพวกเขา เนื่องจากพวกเขาจะไม่ได้ราคาประกับจากทางรัฐบาล โดยที่ผ่านมา รัฐบาลจะเป็นผู้ซื้อธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวสาลี ด้วย “ราคาสนับสนุนอย่างต่ำ”
ในขณะที่ทางรัฐบาลระบุว่า กฎหมายใหม่นี้จะช่วยให้มีการลงทุนจากภาคเอกชน ทำให้ภาคเกษตรกรรมมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ทางฝ่ายค้านกลับวิจารณ์ว่า รัฐบาลผ่านกฎหมายนี้อย่างรวดเร็วโดยไม่ปรึกษากับพรรคการเมืองอื่นๆ หรือตัวแทนชาวนาอย่างถี่ถ้วนก่อน
นักวิเคราะห์มองว่า การประท้วงครั้งใหญ่นี้แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นของชาวนา โดยเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรอินเดีย 1,300 ล้านคนนั้น ต้องพึ่งพาอาศัยภาคเกษตรกรรมในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม รายได้จากภาคเกษตรกรรมกลับมีมูลค่าเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของอินเดียเท่านั้น