Your browser doesn’t support HTML5
ความพยายามที่จะกำจัดความยากจนเป็นความพยายามที่รัฐบาลเกือบทุกประเทศพยายามหาทางแก้ไขมาเป็นเวลานานแล้ว
รัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากจีน มีข้อเสนอใหม่ที่จะจัดการแก้ไขเรื่องความยากจนให้กับประชาชนในประเทศของตน
ข้อเสนอที่จะแก้ปัญหาความยากจนในประเทศของรัฐบาลอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจประจำปีที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา
ในขณะที่ย้ำว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น รัฐบาลอินเดียเสนอที่จะรับประกันรายได้ให้กับประชาชนทุกคน ในระดับที่จะช่วยให้ซื้อหาปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
ที่ปรึกษาอาวุโสทางเศรษฐกิจของรัฐบาล Arvind Subramanian หัวหน้าคณะผู้เขียนข้อเสนอนี้ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า แม้จะมีปัญหาท้าทายหลายอย่างด้วยกัน แต่คิดว่าถึงเวลาที่ควรพิจารณาและแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องนำมาดำเนินการในทันที
ในเชิงบวก รายงานการสำรวจเศรษฐกิจประจำปีฉบับล่าสุดชี้แนะว่า การจ่ายเงินค่าครองชีพให้เป็นประจำทุกเดือน จะไปแทนที่การจ่ายเงินอุดหนุนทางสวัสดิการสังคมในหลายด้านที่รัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้
อินเดียใช้จ่ายเงินนับพันๆ ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการงานในชนบท ที่มุ่งจะรับประกันว่าคนยากจนมีงานทำและมีรายได้อย่างน้อยในขั้นต่ำ และยังจ่ายเงินอุดหนุนค่าอาหารและเชื้อเพลิงให้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้ถูกตำหนิวิพากษ์ว่ามีการบริหารจัดการไม่ดี มีการฉ้อโกง ความสูญเสีย และมักจะไปไม่ถึงมือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริง
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลอินเดียในระดับรัฐและรัฐบาลกลางได้พยายามกำจัดคนกลาง และเจ้าหน้าที่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายักยอกตัดทอนสวัสดิการบางส่วนออกไป ด้วยการโอนเงินสดให้โดยตรงแก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือแทนการจ่ายเงินอุดหนุนเข้าโครงการ
อย่างไรก็ตาม รายได้ระดับพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับปัจจัยในการดำรงชีพ เป็นโครงการที่ตั้งความหวังไว้สูง ซึ่งจะต้องใช้จ่ายเงินมากกว่าโครงการสวัสดิการสำหรับผู้ยากจนที่เป็นอยู่ในขณะนี้
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายให้ความเห็นว่า อินเดียไม่มีทรัพยากรสำหรับโครงการดังกล่าว เพราะถึงแม้จะตัดคนชั้นกลางและคนร่ำรวยออกไป รัฐบาลก็ยังจะต้องจ่ายเงินครองชีพในระดับพื้นฐานให้กับผู้คนมากกว่าหนึ่งพันล้านคน จากจำนวนประชากรราวๆ 1.3 พันล้านคนที่มีอยู่เวลานี้
นอกจากนี้ ตัวเลขที่คำนวณไว้ในรายงานการสำรวจเศรษฐกิจประจำปี แสดงให้เห็นว่า การเลิกจ่ายเงินอุดหนุนโครงการต่างๆ สำหรับคนยากจน จะประหยัดเงินเท่ากับ 2.07 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศ ในขณะที่การจ่ายเงินค่าครองชีพระดับพื้นฐานนั้น เงินที่จะต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัว หรือราวๆ 4.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP
ข้อเสนอในเรื่องนี้พิจารณาทางเลือกต่างๆ สำหรับการเริ่มโครงการ เช่น จะจ่ายค่าครองชีพให้เฉพาะผู้หญิงก่อน โดยให้เหตุผลว่าผู้หญิงประสบปัญหาท้าทายในเกือบจะทุกแง่มุมของขีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การศึกษา การรักษาสุขภาพอนามัย หรือการเงิน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องรายได้ระดับพื้นฐานนี้ให้ความเห็นว่า พลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ควรจะได้รับเงินรายได้ที่ครอบคลุมการใช้จ่ายสำหรับปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงขีพ
ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้กล่าวว่า การรับประกันรายได้ขั้นพื้นฐานทำให้ขาดความจูงใจที่จะทำงาน
มีบางประเทศนอกไปจากอินเดียที่กำลังพิจารณาแนวคิดอย่างเดียวกันนี้ เช่น ฟินแลนด์ ซึ่งได้เริ่มโครงการทดลองสำหรับผู้ที่ไม่มีงานทำ ส่วนในสวิตเซอแลนด์ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงปฏิเสธข้อเสนอในเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว