ศาลสูงสุดของอินเดียตัดสินว่าศาล Sharia หรือศาลที่อิงศาสนาอิสลามในการตัดสินความไม่มีอำนาจในเชิงกฎหมาย

Your browser doesn’t support HTML5

sharia

ศาลสูงสุดของอินเดียตัดสินว่าศาล Sharia หรือศาลที่อิงศาสนาอิสลามในการตัดสินความ ไม่มีอำนาจในเชิงกฎหมาย และตัดสินด้วยว่าคำสั่งของผู้นำศาสนาอิสลามต้องไม่ลิดรอนเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

คำตัดสินนี้มีขึ้นหลังจากที่มีผู้ยื่นคำร้องให้ศาลสูงสั่งยกเลิกระบบศาล Sharia แม้ศาลสูงจะกำหนดขอบเขตอำนาจของศาลศาสนาอิสลามนี้ แต่ผู้พิพากษาไม่ได้ให้มีการยกเลิกศาล Sharia ตามคำร้อง

ศาลสูงกล่าวว่าหากใครต้องการใช้ระบบศาล Sharia ในการตัดสินความ ก็สามารถทำได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ตามปกติศาล Sharia จะพบได้ตามชุมชนที่มีชาวมุสลิมอยู่หนาแน่น

ประเทศอินเดียมีชาวมุสลิมประมาณ 150 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 13 ของประชาชนทั้งหมด และศาล Sharia เป็นช่องทางการแสวงหาความยุติธรรมในคดีประเภทที่เกี่ยวกับครอบครัวและทรัพย์สิน

ผู้นำชุมชนอิสลามกล่าวว่าการตัดสินของศาลสูงในครั้งนี้เป็นเพียงความพยายามที่จะลดความซ้ำซ้อน และให้เกิดความชัดเจนของระบบกฎหมาย อย่างไรก็ตามคำตัดสินน่าจะทำให้เกิดข้อถกเถียงรอบใหม่เกี่ยวกับระบบยุติธรรมในสังคมที่มีความหลากหลายของอินเดีย

โปรดติดตามรายละเอียดจากคลิปเรื่องนี้ในรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ

รายงานโดย Anjana Pasricha /เรียบเรียงโดย Rattaphol Onsanit