อินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ได้ลงนามในข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ที่ทั้งสองประเทศคาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศขึ้นเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในอีกห้าปีข้างหน้า ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้าเสรีที่รัฐบาลกรุงนิวเดลีพยายามเร่งลงนามภายในปีนี้ เพื่อกระตุ้นศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) และมกุฏราชกุมาร ชีค โมฮัมเมด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน (Sheikh Mohamed bin Zayed al Nahyan) ของสหรัฐอาหรับอเมิเรตส์ ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement) ในการประชุมสุดยอดที่จัดผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อน ที่อินเดียมักจะใช้เวลานานในการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ และใช้อัตรากำแพงภาษีที่สูงเพื่อปกป้องเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของประเทศ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นตลาดการส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของอินเดีย รองจากสหรัฐอเมริกา และจีน โดยการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปัจจุบันคิดเป็นมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์
สหรัฐอาหรับอเมิเรตส์หวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ตนมีสถานะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งหนึ่ง ในขณะที่อินเดียหวังจะเข้าถึงตลาดแอฟริกาและเอเชียตะวันตก และช่วยสร้างงานมากกว่าหนึ่งล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
เมื่อสองปีก่อน อินเดียได้ถอนตัวออกจาก RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมี ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอีก 10 ประเทศร่วมลงนาม หลังจากที่เกิดความกังวลว่าจะมีการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน
นั่นทำให้อินเดียไม่ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษทางการค้าในการเข้าถึงตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และทำให้เกิดความกังวลว่าอินเดียกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ใช้นโยบายกีดกันทางการค้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินเดีย พิยุช โกยัล (Piyush Goyal) กล่าวว่า รัฐบาลกรุงนิวเดลีไม่ต้องการทำข้อตกลงทางการค้าแบบกลุ่มอีกต่อไป แต่เลือกที่จะทำข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ ที่มีค่านิยมทางประชาธิปไตย ความโปร่งใส และการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนกัน
อินเดียยังหวังว่าข้อตกลงทางเศรษฐกิจทวิภาคีที่กำลังเจรจากับประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และอิสราเอล จะช่วยให้อินเดียเข้าถึงตลาดได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับประเทศเหล่านั้น ประโยชน์ที่ได้จากอินเดีย คือการที่จะไม่ต้องพึ่งพาการค้ากับจีนมากจนเกินไป
ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินเดียเติบโตร้อยละ 9 ซึ่งคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก