อินเดียจับตาโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ‘เดลตา พลัส’

Virus Outbreak India ICU Doctor Photo Gallery

อินเดียประกาศการค้นพบโคโรนาไวรัส โควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ ‘เดลตา พลัส’ (Delta plus) ตามรายงานของรอยเตอร์

ทางการอินเดีย ระบุให้ไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่พบนี้ ชื่อว่า ‘เดลตา พลัส’ (Delta plus) หลังจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้นับสิบราย ใน 3 รัฐของอินเดียตอนนี้ โดยผู้ติดเชื้อ 16 ราย อยู่ในรัฐมหาราชตระ ตามการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย และว่าโควิดสายพันธุ์ เดลตา พลัส มีระดับการแพร่เชื้อที่สูงขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลตาและจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจหาเชื้อมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ของอินเดีย

ขณะที่ในวันจันทร์ อินเดียเพิ่งสร้างสถิติใหม่ในการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนในวัยผู้ใหญ่ 8.6 ล้านราย ท่ามกลางความคลาแคลงใจของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอินเดีย ถึงความยั่งยืนของการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศ จากที่ปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ จะเท่ากับอัตราการแจกจ่ายวัคซีนเฉลี่ยวันละ 4-5 ล้านโดสต่อวันเท่านั้น

ขณะที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การแจกจ่ายวัคซีนในอินเดียอยู่ที่เฉลี่ยต่ำกว่า 3 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อวันที่ทางการกำหนดไว้เพื่อให้ทันรับมือการระบาดของโควิดกลายพันธุ์ในประเทศได้

อินเดียเผชิญกับการระบาดหนักของโควิด-19 ระลอกสอง เมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา จนระบบสาธารณสุขในประเทศแทบรับไม่ไหว และผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนจะได้รับการยืนยันว่าเป็นโควิดกลายพันธุ์เดลตา

ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อินเดียพบผู้ติดเชื้อใหม่ 42,640 ราย ต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,167 ราย ส่วนยอดติดเชื้อสะสมของอินเดียอยู่ที่ 29.98 ราย เสียชีวิต 389,302 คน ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย

วัคซีนโควิด ‘โคแวคซิน’ จากภารัตไบโอเทค โชว์ประสิทธิผล 77.8% ในเฟส 3

อินเดียถือเป็นผู้ผลิตวัคซีนอันดับต้นๆของโลก และอนุมัติการใช้วัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดย Serum Institute of India และวัคซีน ‘โคแวคซีน’ (Covaxin) วัคซีนโควิดของอินเดียจากบริษัทภารัตไบโอเทค

ล่าสุด ทางบริษัทภารัตไบโอเทค เผยการทดสอบในเฟส 3 ที่ระบุว่า โคแวคซีน ให้ประสิทธิผลที่ 77.8% อ้างอิงจากรายงานของสื่อ CNBC-TV18

เมื่อสัปดาห์ก่อน ทาง Serum Institute of India ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตวัคซีนโควิดให้ได้ราว 100 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนทางบริษัทภารัตไบโอเทค ตั้งเป้าผลิตราว 23 ล้านโดสต่อเดือน