ดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์สัญชาติอินเดีย เข้าสู่วงโคจรสำเร็จ

  • VOA

ภาพถ่ายจากรายงานการถ่ายทอดการปล่อยยานอวกาศ อาทิตยา-แอล 1 ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization – ISRO) เมื่อ 2 ก.ย. 2566

อินเดียประสบความสำเร็จทางอวกาศไปอีกขั้น หลังสามารถส่งยานอาทิตยา แอล-1 เข้าสู่ตำแหน่งประจำการ ห่างจากโลก 1,500,000 กม. เพื่อสำรวจดวงอาทิตย์เป็นเวลา 5 ปี

องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization – ISRO) เปิดเผยว่า ยานอาทิตยา แอล-1 ที่ถูกยิงขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 2 กันยายนที่ผ่านมา ได้เข้าสู่วงโคจรอันเป็นจุดหมายปลายทางแล้ว โดยใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 4 เดือน

อาทิตยา เป็นชื่อที่ตั้งตามเทพแห่งแสงอาทิตย์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ส่วน แอล-1 มาจาก ‘จุดลากรานจ์ที่ 1’ ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ที่ยานสำรวจจะใช้เป็นที่ตั้งระหว่างปฏิบัติการ ซึ่งเป็นจุดที่จะเห็นดวงอาทิตย์ได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งในเวลาที่มีสุริยุปราคา

ภารกิจของอาทิตยา แอล-1 คือการศึกษาดวงอาทิตย์เป็นเวลา 5 ปี เพื่อสร้างความเข้าใจในสภาพอากาศของอวกาศในพื้นที่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการปกปองดาวเทียมและยานอวกาศชนิดอื่น อ้างอิงตามข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ

นอกจากนั้น ยังมีการคาดการณ์ว่า ยานดังกล่าวจะสามารถเตือนภัยจากพายุอวกาศที่สามารถส่งผลกระทบต่อโลกได้ในแง่ของการรบกวนการทำงานของดาวเทียมและการสื่อสารทางวิทยุ

ความสำเร็จนี้ทำให้อินเดียกลายเป็นอีกหนึ่งชาติที่มีภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ ซึ่งมีเพียงสหรัฐฯ โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) องค์การอวกาศยุโรป ญี่ปุ่นและจีน ที่ประสบความสำเร็จ

ชัยธันยา กีรี รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ Flame University เมืองปูเน่ กล่าวว่า การที่ยานดังกล่าวไปถึงจุดหมายปลายทาง “แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอินเดียในการเดินทางจากวงโคจรโลกออกไปหลายล้านกิโลเมตร มันคือศักยภาพที่มีไม่กี่ประเทศทำได้”

เมื่อเดือนกันยายน 2023 อินเดียเป็นประเทศแรกที่สามารถนำยานอวกาศไร้คนขับ ลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรก

  • ที่มา: วีโอเอ